"ไทย-จีน"ลงนามพิธีสารฯดันส่งออกผลไม้แสนล้าน ทำนิวไฮรอบ 13 ปี

13 ก.ย. 2564 | 07:45 น.

“เฉลิมชัย” แจ้ง ข่าวดี “ไทย- จีน” จับมือ ลงนามพิธีสาร ขยายด่านนำเข้า – ส่งออกเพิ่ม 16 ด่าน เปิดโอกาสผลไม้ไทย สู่แดนมังกรเพิ่มขึ้น เล็งส่งออกพุ่งนิวไฮสูงสุดรอบ 13 ปี ในปี 2565 ไม่ต่ำกว่า แสนล้านบาท

วันที่ 13 กันยายน 2564 การประชุมระดับรัฐมนตรีด้าน SPS อาเซียน-จีน เป็นการดำเนินการภายใต้ MOU SPS อาเซียน-จีน โดยจัดเป็นประจำทุก 2 ปี ซึ่งเป็นโอกาสให้รัฐมนตรีจากกระทรวงที่กำกับดูแลด้านมาตรการ SPS ของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนได้ร่วมหารือในประเด็นต่างๆเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารภายในภูมิภาค และกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

เซ็นเอ็มโอยู

 

รวมทั้งเป็นเวทีสำคัญในการหารือในระดับทวิภาคีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนด้วย โดยในครั้งนี้ ไทยและจีนได้ใช้โอกาสนี้ในการลงนามร่วมกันในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มเส้นทางขนส่งผลไม้ระหว่างไทยกับจีน

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังจากการประชุม ว่า  ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการความร่วมมือด้าน SPS โดยที่ประชุมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารข้ามพรมแดน ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้นให้สินค้าเกษตรและอาหารมีความปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค และส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างกันน้อยที่สุด

 

พร้อมทั้งรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมืออาเซียน-จีน ด้าน SPS ประจำปี 2562-2563 ซึ่งอาเซียนและจีนได้มีความร่วมมือในหลายรูปแบบ เช่น การแลกเปลี่ยนการเยือน การจัดฝึกอบรมและสัมมนาเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนการจัดทำฐานข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาวิจัยร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งล้วนนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารภายในอาเซียนและจีน

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในร่างแผนงานความร่วมมืออาเซียน-จีน ด้าน SPS ประจำปี 2565-2566 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาในสัตว์น้ำ และร่วมกับฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมด้านการกักกันสัตว์ ณ ด่านท่าอากาศยานและด่านท่าเรือ ซึ่งผลสัมฤทธิ์สำคัญที่อาเซียนและจีนร่วมกันประกาศในการประชุมครั้งนี้ก็คือ จีนได้พัฒนาเว็บไซต์เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลด้านมาตรการ SPS ของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนแล้วเสร็จ และเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้งานได้แล้ว

 

บรรยากาศระหว่างเซ็นเอ็มโอยู

 

โดยเว็บไซต์ดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูลกฎระเบียบและมาตรการด้าน SPS ของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นและนำไปใช้ประโยชน์ของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยจีนขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้จีนเพื่อนำไปอัพเดทลงในเว็บไซต์ดังกล่าวต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้ประกาศความสำเร็จในการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้าน SPS ระหว่างอาเซียนและจีนฉบับใหม่ ที่จะนำมาใช้แทน MOU ฉบับปัจจุบันซึ่งจะสิ้นอายุลงในวันที่ 24 กันยายน 2564 นี้ โดยขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนได้เห็นชอบในเนื้อหาของ MOU ร่วมกันเรียบร้อยแล้ว และหลังจากนี้ แต่ละประเทศจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศ เพื่อนำไปสู่การลงนามร่วมกันโดยการเวียนให้แล้วเสร็จภายในปี 2564

 

เฉลิมชัย ศรีอ่อน เซ็นเอ็มโอยู

รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือภายใต้ MOU SPS อาเซียน-จีน นั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างอาเซียนและจีน เนื่องจากเป็นเวทีในการหารือและดำเนินการความร่วมมือด้าน SPS และเป็นช่องทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบและมาตรการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างอาเซียนและจีน ซึ่งไทยก็พร้อมสนับสนุนการดำเนินการความร่วมมืออย่างเต็มความสามารถ

 

“เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนว่า แม้ว่าในช่วงระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตจากการระบาดของโรค "โควิด-19" ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ได้ใช้ความพยายามอย่างสูงสุดในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยผลิตและส่งออก โดยปฏิบัติตามหลักมาตรการสากล เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีความปลอดภัย”นายเฉลิมชัย กล่าว

 

นอกจากนี้ยังไดมีการนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้ลงนามร่วมกับ Mr.Wang Lingjun รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยและจีนได้มีการลงนามพิธีสารเกี่ยวการส่งออกและนำเข้าผลไม้ทางบก ผ่านประเทศที่สาม ทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่ เส้นทาง R9 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552  และเส้นทาง R3A ลงนามเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554 ทั้งนี้ พิธีสารทั้ง 2 ฉบับ ครอบคลุม ผลไม้จากไทย 22 ชนิด

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเส้นทาง R9 และ R3A ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดปัญหาการจราจรติดขัด บริเวณหน้าด่านนำเข้าของจีน โดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กว่าน ซึ่งส่งผลให้รถขนส่งสินค้าติดอยู่ที่ชายแดนจีนเป็นเวลานาน ทำให้สินค้าผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่ส่งไปจีนนั้นเสียหาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือแนวทางการแก้ไขปัญหากับจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 และได้เห็นชอบร่วมกัน ในหลักการจัดทำพิธีสารฉบับใหม่ เพื่อเปิดด่านนำเข้าผลไม้จากไทยไปจีนเพิ่มเติม 

 

ต่อมาต้นปี 2563 ได้มอบหมายสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร หารือกับฝ่ายจีน เพื่อจัดทำร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามจนสำเร็จลุล่วง จึงได้มีการลงนามร่วมกันในวันนี้ ส่งผลให้มีด่านนำเข้า - ส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 16 ด่าน โดยเป็นด่านของไทย 6 ด่าน (เชียงของ มุกดาหาร นครพนม บ้านผักกาด บึงกาฬ หนองคาย) และด่านของจีน 10 ด่าน (โหย่วอี้กว่าน โม่ฮาน ตงซิง ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านรถไฟโม่ฮาน เหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว หลงปัง เทียนเป่า และสุยโข่ว)

เรียบร้อย "เซ็นลงนาม" ออนไลน์

หลังจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ด้านการตรวจสอบกักกันพืช และออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จะดำเนินการแจ้งเวียนรายชื่อด่าน ที่จีนและไทยอนุญาตให้นำเข้าและส่งออกผลไม้ ตามพิธีสารฯ ให้กับด่านตรวจพืชต่าง ๆ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง พร้อมประกาศรายชื่อด่านดังกล่าวลงในเว็บไซต์ของกรม และจะดำเนินการประสานกับฝ่ายจีน เพื่อกำหนดแนวทางการแลกเปลี่ยนใบรับรองสุขอนามัยพืช ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างด่านนำเข้า - ส่งออก ต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไปจีนผ่านด่าน ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564

 

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ไม่เฉพาะพืชผักผลไม้ ยังมีสินค้าข้าว ปศุสัตว์ และอื่นๆ  โดยผ่านระเบียบและวิธีการ รวมถึงข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะอำนวยความสะดวกให้กับทุกคนที่จะทำการค้าผ่านแดนกับด่านใหม่ที่จะเปิดในครั้งนี้ นี่คือข่าวดี แล้วจะดำเนินการต่อเนื่อง  แล้วจะมีการเจรจาขอเพิ่มจำนวนสินค้าให้มากยิ่งขึ้น แล้วต่อไปในวันข้างหน้า ได้ตั้งเป้าหมายไว้หากสามารถที่จะเดินทางได้โดยไม่ติดขัดในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคไวรัส “โควิด-19” จะตั้งทีมไปเจรจาการเปิดชนิดสินค้าให้มากขึ้น เป็นสินค้าเกษตรของไทยทุกชนิด

 

"เชื่อมั่นว่าตลาดของประเทศจีนยังเปิดกว้างสำหรับสินค้าภาคเกษตรของไทย และการเปิดด่านที่มากขึ้น จะสามารถส่งออกได้มากขึ้น ความเสียหายก็จะน้อยลง การจราจรติดขัดปัญหาจะน้อยลง หรือแทบจะไม่มี ส่วนปัญหาราคาตกต่ำของลำไย และมังคุดเกิดปัญหาแค่ระยะสั้น รวมถึงล้งที่มีปัญหาเพลี้ยลำไย ก็สามารถแก้ปัญหาได้ภายในวันเดียวเท่านั้น ทางจีนได้ยอมรับเงื่อนไข เจรจาสำเร็จ ล้งที่ไม่มีปัญหาสามารถส่งออกได้ตามปกติ"

 

สำหรับ การส่งออกผลไม้ไทยไปจีน เฉพาะที่มีใบรับรองสุขอนามัยพืช โดยผ่านเส้นทาง เส้นทาง R9 (มุกดาหาร, นครพนม - โหย่วอี้กวน) และ R3A (เชียงของ-โม่ฮาน) พบว่า ไทยมีปริมาณการส่งออกและมูลค่าเติบโตต่อเนื่อง จะเห็นได้จาก 3 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี และมูลค่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 50 ต่อปี โดยปี 2561 ส่งออกผลไม้ผ่าน R9 และ R3A รวมปริมาณ 421,657 ตัน มูลค่า 17,857 ล้านบาท

 

เทียบกับปี 2564 ระยะเวลา 8 เดือน (มกราคม – 7 กันยายน 2564) ส่งออก 691,653 ตัน มูลค่า 66,370 ล้านบาท  นี่แค่เฉพาะ 2 เส้นทางเท่านั้น ส่วนผลไม้ที่ส่งออกมากที่สุด ทุเรียน มังคุด และลำไย คาดว่าหลังจากทำพิธีสารมูลค่ากับจำนวนสินค้า ต้องเพิ่มขึ้นและมีเป้าหมาย ในปี 2565 ในจำนวน 10 ด่าน คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี (พิธีสารลงนามตั้งแต่ ปี 2552)

พิศาล พงศาพาพิชณ์

 

ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)  กล่าวว่า  สำหรับตัวกรอบยังยึด 22 ชนิด จะมีชนิดหลักที่ออกจำนวนมาก อาทิ ทุเรียน มังคุด และลำไย 3 ชนิดรวมกันมากกว่า 90% ที่ส่งออกไปจีน นอกนั้นตัวอื่นที่เริ่มเด่นขึ้นมา และเริ่มมีการส่งออกมากขึ้น  เช่นมะพร้าวอ่อน ปี2563 ส่งออกพันล้านบาท ส่วนตัวอื่นๆ ที่เริ่มตามมา เช่น ขนุน กล้วย ส้มโอ มะม่วง และมะขามหวาน  เป็นต้น ซึ่ง อยู่ในจำนวน 22 ชนิด ในอนาคตจะเพิ่มตัวอื่นๆ ที่เด่นๆ เพื่อรักษายอดการส่งออกให้โตอยู่เรื่อยๆ ปีหนึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า 1 แสนล้าน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการฯ

 

“ในปีที่แล้ว 2563  ส่งผลไม้ไปจีน 1.02 แสนล้านบาท ในปี 2563 นำเข้าผลไม้จากจีนอยู่ 30,735 ล้านบาท เพราะฉะนั้นผลไม้เราได้ดุลจีน 7.2 หมื่นล้าน ส่วนปี 2564 ตัวเลข 8 เดือน  1.01 แสนล้านล้านบาท ส่วนของจีนตัวเลขยังไม่สรุป คาดการณ์ว่าตัวเลขประมาณใกล้เคียงกับปีที่แล้ว สรุปแล้วในเรื่องผลไม้มีการส่งออกมากกว่าการนำเข้า ประมาณ 3 เท่า ส่วนชนิดที่นำเข้าจากประเทศจีน ได้แก่ แอปเปิ้ล สาลี่ องุ่น และ ส้ม  แต่ละตัวมูลค่าประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท  ขณะที่ทุเรียนไปจีน ปี2564 มูลค่า 7.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเปรียบเทียบ “ไทย-จีน “  “

 

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการลงนามพิธีสาร นอกจากจะทำให้มีด่านส่งออกและนำเข้าทั้งจากไทยและจีนมากขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการไทย ยังมีทางเลือกในการใช้เส้นทางขนส่งเพิ่มขึ้น สามารถเลือกใช้เส้นทางที่สะดวกและเหมาะสม นำมาซึ่งการลดต้นทุน การขนส่งสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ไทย เป็นผลไม้เมืองร้อน มีอายุการเก็บรักษาสั้น

 

ดังนั้น การขยายด่านขนส่ง จึงเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตร ให้สามารถกระจายไปยังมณฑลต่างๆ ของจีนได้อย่างทั่วถึงในระยะอันสั้น และจัดส่งได้รวดเร็วกว่าการขนส่งทางเรือที่สำคัญเป็นการสร้างโอกาสให้กับพี่น้องเกษตรกร เพราะเมื่อมีการส่งออกกระจายสินค้าได้รวดเร็ว ย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรไทยมีราคาที่ดีไปด้วย อีกทั้งผู้บริโภคจีน ยังได้มีโอกาสบริโภค ลิ้มลองรสชาติผลไม้ไทยได้จำนวนมากและหลากหลายชนิดมากขึ้น