ชำแหละเบื้องหลัง รฟม.ล้มประมูลสายสีส้ม-ม่วงใต้

01 ก.ย. 2564 | 06:51 น.

เปิดเบื้องลึกรฟม.ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ม่วงใต้ อ้างคาดเคลื่อนส่งเอกสารประกวดราคาพลาด หวั่นฝ่ายค้านซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ซัดนายกฯ-รัฐบาล เมินแก้ปัญหาสายสีเขียว กระทบเอกชน-กทม.รับศึกหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศล้มประมูลการประกวดราคาก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงินกว่า 78,720 ล้านบาท โดยอ้างว่า เกิดความคลาดเคลื่อนในการส่งเอกสารประกวดราคาให้ผู้สังเกตการณ์ ตามข้อตกลงคุณธรรมที่ลงนามกันไว้เมื่อปี 2561 จึงต้องยกเลิกเพื่อดำเนินการให้ครบถ้วน พร้อมยืนยันว่าจะสามารถเร่งดำเนินการคลอด TOR ภายในเดือน ก.ย.นี้ และจัดประมูลหาผู้รับเหมาได้ ภายในไตรมาสแรกปีของ 65 นั้น

 

 

รายงานข่าวจากวงการผู้รับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยว่า เบื้องหลังการล้มประมูลรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้นั้น ทุกฝ่ายต่างรู้เต็มอกเป็นไปเพื่อ ไม่ให้พลพรรคฝ่ายค้านหยิบยกกรณีประมูลอื้อฉาวนี้ ไปอภิปราย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของรัฐมนตรีที่ถูกฝ่ายค้านจ้องซักฟอก ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรายบุคคล เพราะแค่โครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสานทั้ง 2 เส้นทาง มูลค่ากว่า 1.28 ล้านบาท ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงคมนาคม เปิดประมูลกันไปก่อนหน้า ก็ไม่รู้จะปัดข้อครหาการฮั้วประมูลไปให้พ้นตัวไปได้อย่างไร เนื่องจากประมูลโครงการร่วม 1.28 แสนล้านบาท แต่ผู้รับเหมาที่เข้าร่วมประมูล 5 ราย พร้อมใจกันเสนอต่ำกว่าราคากลางชนิดแค่  30-40 ล้านบาทหรือ 0.08% เท่านั้น

 

 

 “ก็ไม่รู้นายกฯและฝ่ายการเมืองจะคิดอย่างไรกับเหตุผลของ รฟม.ที่ใช้ข้ออ้างและยืนยันจะเปิดประมูลโครงการฯภายในปลายปีนี้และได้ผู้รับเหมาต้นปี 65  เพราะครั้งก่อนที่ไปยกเลิกประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม รฟม.ก็เคยยืนยันว่า จะสามารถเร่งรัดจัดประกวดราคาใหม่ภายในเดือนนั้น สุดท้ายผ่านมากว่า 6-7 เดือนเข้าไปแล้ว รถไฟฟ้าสายสีส้มก็ยังไม่ขยับไปไหน”
 

รายงานข่าว กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ รฟม.ยังคงยืนยัน จะนำเอาเกณฑ์ประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาโดยพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอราคาประกอบกัน (เทคนิค30% +ราคา 70%)นั้น พบว่าความล้มเหลวของการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม และม่วงใต้ที่ผ่านมาน่าจะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า หากยังคงดึงดันที่จะจัดประมูลด้วยเกณฑ์ดังกล่าวจะลงเอยอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมระบบขนส่ง คือนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ปชป.ขุและอดีตรองผู้ว่าการฯ กทม.ได้นำข้อมูลออกมาโต้แย้ง จน รฟม.ไปไม่เป็นมาแล้ว จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดฝ่ายบริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกยังคงจะดั้นเมฆเปิดประมูลภายใต้หลักเกณฑ์อื้อฉาวต่อไปอีก 

 

 

ขณะเดียวกันการใช้เกณฑ์เทคนิคและราคาดังกล่าว ทำให้ รฟม. ต้องใช้งบประมาณลงทุนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และรถไฟฟ้าสายสีม่วง มากกว่าการใช้เกณฑ์ราคา 100% อย่างน้อยที่สุด โครงการละหลายพันล้านไปจนถึงหลักหมื่นล้านบาท เงินก้อนใหญ่นี้คือส่วนเกิน ที่ผู้ชนะการประมูลไม่ควรจะได้ เพราะไม่ใช่ต้นทุน แต่เป็นส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนทีโออาร์ ไปใช้เกณฑ์เทคนิคผสมเกณฑ์ราคา  ทำให้เป็นเหตุผลที่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ งัดข้อมูลได้มาทักท้วงว่าเกณฑ์ผสมข้างต้น ซึ่งจะทำให้ รฟม.ต้องเสียงบประมาณมากขึ้นกว่าการใช้เกณฑ์ราคา 100% เพราะผู้ที่เสนอราคาค่าก่อสร้างต่ำสุด ในกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงไม่จำเป็นต้องชนะการประมูล หากรฟม.อ้างว่า ผู้เสนอราคาสูงกว่า มีประสบการณ์การก่อสร้างที่น่าเชื่อถือ ไว้ใจกว่า 

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (คูคต-สมุทรปราการ) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าเชื่อมโยงการเดินทางข้าม 3 จังหวัดจากปทุมธานี-กทม.ไปสิ้นสุดที่จ.สมุทรปราการ ระยะทางรวมกว่า 68.5 กม.ซึ่งก่อนหน้านี้  กทม.และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส(BTS) ได้มีการเจรจาจัดทำข้อตกลงเพื่อยุติปัญหาหนี้ค้าง และค่าข้างเดินรถรวมกว่า 100,000 ล้านบาท โดยจัดทำข้อเสนอใหม่ให้บริษัทเอกชนรับสัมปทานโครงการไปบริหารจัดการ 30 ปีเพื่อ แลกกับแบกภาระมูลหนี้ค้างต่างๆแทน กทม.รวมทั้งตรึงราคาค่าโดยสารเอาไว้ไม่ให้เกิน 65 บาทตลอดสาย ทั้งยังต้องจ่ายค่าต๋งให้แก่ กทม.อีก 2 แสนล้าน ทั้งนี้การต่อขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวให้กับบีทีเอสข้างต้น พบว่าทางฝ่ายบริหารบีทีเอสได้ยื่นฟ้อง กทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม(KT) วิสาหกิจของ กทม.ไปแล้ว เพื่อทวงหนี้ค้างที่ทะลักขึ้นมากว่า 40,000 ล้านบาท 

 

 

  “การที่นายกฯและรัฐบาล ไม่ตัดสินใจใด ๆ ลงไป ทำให้กทม.กับบริษัทเอกชนคู่สัญญาก็ต้องรับกรรมกันไป แต่อย่าลืมว่า โครงการดังกล่าวเป็นสัมปทานร่วมลงทุน (PPP) ระหว่างรัฐ-เอกชน ที่ต้องร่วมมือกัน แต่เมื่อรัฐเอาแต่ลอยแพไม่ยอมแก้ไขปัญหา หากท้ายที่สุด เอกชนผู้รับสัมปทานบอกเลิกศาลา ไม่สามารถจะให้บริการเดินรถไฟฟ้าได้แล้ว เพราะไม่สามารถจะแบกรับภาระหนี้ท่วมบักโกรกที่สุมหัวอยู่ได้ แบบเดียวกับที่ แอร์เอเชีย และการบินไทยเผชิญอยู่  รัฐบาลเองก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่พ้นเช่นกัน”