ศาลปกครองสูงสุดจำหน่ายคดี“บีทีเอส”ขอถอนเกณฑ์ร่วมทุน“รถไฟสายสีส้ม-รฟม.”

18 ส.ค. 2564 | 07:15 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2564 | 14:27 น.

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนสั่งจำหน่ายคดีปม“บีทีเอส”ขอเพิกถอนเกณฑ์การร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม-รฟม. ชี้มติเดิมที่เป็นเหตุฟ้องคดีถูกยกเลิกไปเเล้ว ไม่มีการกระทำที่จะพิพากษาต่อไป

วันนี้(18 ส.ค.64) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือ บีทีเอส ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 

 

ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และให้คำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ดังกล่าว ไว้เป็นการชั่วคราว สิ้นผลบังคับลงไปด้วย 

 

 

โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับยกเลิกโครงการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ในครั้งนี้ไปแล้ว

 

มติของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ที่เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมทั้งหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน เอกสารเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่งจึงไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้วเช่นกัน

 

ดังนั้น เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่งไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว จึงไม่มีการกระทำที่ศาลปกครองจะพิจารณาพิพากษาต่อไป อันเป็นเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหานี้ได้