“มหากาพย์จำนำข้าว” ครบ 10 ปียังจบไม่ลง อคส.-อ.ต.ก. ขอต่อเวลาระบายข้าว

29 ส.ค. 2564 | 06:24 น.

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้แถลงต่อรัฐสภาว่า นโยบายรับจำนำข้าวเป็น 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วนที่ “พรรคเพื่อไทย” ให้สัญญาไว้กับประชาชนไว้ตอนเลือกตั้งว่าจะเร่งดำเนินการทันที ถึง ณ ปัจจุบันเป็นระยะเวลาครบ 10 ปีพอดี

 

ทั้งนี้นโยบาย “รับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แบ่งเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิรับจำนำ (ขายขาด) ตันละ 20,000 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัดตันละ 18,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานีตันละ 16,000 บาท และข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้นกว่า 50% โดยมีสโลแกน ขายข้าวไม่ได้ราคา “อย่าขาย” นำมาจำนำกับรัฐบาล

 

ในช่วง 2 ปีแรกรัฐบาล “พรรคเพื่อไทย” มีการใช้เงินในโครงการรับจำนำ 2 ฤดูการผลิต (2554/55 และ 2555/56) ใช้เงินไปทั้งสิ้น 878,389 ล้านบาท ในขณะนั้นนางสาวยิ่งลักษณ์ ชี้แจงว่า ผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ทำให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัว 3.7% ต่อรอบ หรือมีมูลค่าผลรวมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท มากกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปและงบประมาณที่ต้องชดเชยในโครงการ

 

ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร

 

ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รายงานผลสรุป รัฐบาลได้รับซื้อข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2554/55 และข้าวนาปรังปี 2555 ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2555 รวมทั้งสิ้น 21.76 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นข้าวสารทั้งสิ้น 13.38 ล้านตัน เกิดการฮั้วทุจริต คุณภาพข้าวแย่ ส่งออกหด รายได้หาย ระบบค้าข้าวพัง  และสุดท้ายอย่างที่ทราบกัน การดำเนินนโยบายดังกล่าวไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีทั้งผู้แสวงหา ฉกฉวยโอกาส เล่นกล ซ่อนปมลับ ลัดขั้นตอนจนทำให้เกิดคดีความต่าง ๆ มากมาย ทั้งกับโรงสี เจ้าของคลังสินค้า เซอร์เวเยอร์ นักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กลายเป็นมหากาพย์จำนำข้าวมาจนถึงทุกวันนี้  ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ                                     

 

“มหากาพย์จำนำข้าว” ครบ 10 ปียังจบไม่ลง อคส.-อ.ต.ก. ขอต่อเวลาระบายข้าว

 

โดยแหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากสถานการณ์ภาวะโรคระบาดร้ายแรงโควิด-19 ทำให้การดำเนินการระบายข้าวคงเหลือไม่แล้วเสร็จตามกำหนด และยังมีข้าวสารคงเหลือรอการจำหน่ายและจ่ายออกจากคลังสินค้า ล่าสุด (23 ส.ค.64) 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก)  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำหนังสือขออนุมัติขยายระยะเวลาโครงการออกไปจนถึงสิ้นสุดเดือนกันยายน 2565 (จากเดิมจะสิ้นสุด เดือน ก.ย. 2564)

 

ปัจจุบัน อคส. ยังมีสต๊อกข้าวคงเหลือในคลังสินค้า 2.33 แสนตัน มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเบิกจ่ายให้กับคู่สัญญา ได้แก่ ค่าเช่าคลังสินค้า, ค่าตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร, ค่าดูแลรักษาคุณภาพข้าว ค่ารมยา และอื่น ๆ ขณะที่การดำเนินคดีกับคู่สัญญาที่กระทำผิด แบ่งเป็นการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง 246 คดี คดีอาญา 897 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 5 แสนล้านบาท

 

ในส่วนปริมาณข้าวคงเหลือ 2.33 แสนตัน แบ่งเป็น 1.จำหน่ายแล้วอยู่ระหว่างรับมอบกว่า 1.6 หมื่นตัน 2.จำหน่ายแล้วผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบหรือเจ้าของคลังยึดหน่วงกว่า 1.76 แสนตัน (อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงบังคับตามสัญญา) 3.น้ำหนักสูญหาย (รอปรับบัญชีตามหลักเกณฑ์) กว่า 1.05 หมื่นตัน 4.ข้าวหาย (อยู่ระหว่างดำเนินคดี) 3,547.303 ตัน และ 5.ข้าวเปียกน้ำ หรือไฟไหม้ กว่า 2.6  หมื่นตัน (รอประกัน หรือเจ้าของคลัง, เซอร์เวเยอร์ รับผิดชอบ)

 

ส่วนของ อ.ต.ก. ปัจจุบันมีข้าวคงเหลือในสต๊อกกว่า 8 หมื่นตัน ผลการดำเนินคดีกับคู่สัญญาได้ยื่นฟ้องศาลปกครองมีจำนวน 90 คดี  และการดำเนินคดีอาญา 291 คดี มูลค่าความเสียหาย 1.42 แสนล้านบาท รวมความเสียหาย 2 หน่วยงานกว่า 6.42 แสนล้านบาท  (ดูกราฟิกประกอบ)

 

ทั้งนี้ข้าวที่เหลือในสต๊อกทั้งของอคส. และ อ.ต.ก.รวมประมาณ 3.2 แสนตัน นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า ปริมาณข้าวเท่านี้ไม่มีผลที่จะกดดันราคาข้าวในตลาด แต่ปัจจัยลบที่ทำให้การส่งออกข้าวไทยยังชะลอตัวในเวลานี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้น อาทิ ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออก เป็นต้น

 

สำหรับในปีนี้คาดผลผลิตข้าวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สวนทางกับการบริโภคลดลงทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การบริโภคข้าวลดลง โดยช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ไทยยังส่งออกข้าวได้แค่ 2.61 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.18% ซึ่งการส่งออกข้าวอาจไม่ถึง 6 ล้านตันตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้

 

“มหากาพย์จำนำข้าว” ครบ 10 ปียังจบไม่ลง อคส.-อ.ต.ก. ขอต่อเวลาระบายข้าว

 

บทสรุปคดี “จำนำข้าว”  พรรคการเมืองต้องตระหนักและถอดบทเรียนว่านโยบายประชานิยมที่แลกมาด้วยคะแนนเสียงจากเกษตรกร คุ้มค่าหรือไม่กับปัญหาทุจริตเกือบทุกขั้นตอนที่ไม่สามารถควบคุมได้ จนทำให้เกิดคดีประวัติศาสตร์กว่า 1,524 คดี สร้างความเสียหายกว่า 6.4 แสนล้านบาท ยังไม่นับความเสียหายที่ยังไม่เป็นคดีความอีกจำนวนมาก หากนับรวมอาจจะเสียหายมากกว่านี้ และคงต้องตามสะสางไม่รู้จบ

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,709 วันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน พ.ศ. 2564