นายกฯ โรงสี ห่วงชาวนา ผวาสต๊อก ฉุดราคาข้าวดิ่ง

11 ส.ค. 2564 | 12:16 น.

นายกฯ สมาคมโรงสีข้าวไทย ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาล ผวาสต๊อก 6 ล้านตันข้าวสาร กดราคาข้าวในประเทศ แนะเร่งออกมาตรการคู่ขนาน ประกันรายได้ ให้ทันก่อนที่ชาวนาจะเกี่ยว ระบุ ปัจจัยเสี่ยงรุมล้อม ทั้งผลผลิตมาก สภาพคล่อง ส่งออกน้อย โควิดพุ่ง ตลาดในประเทศซบเซา ยังไม่รู้จุดจบ

รังสรรค์ สบายเมือง

 

นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่องผลกระทบ จาก โควิด 19 สืบเนื่องจากข่าวที่ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวเอง ว่ามีปัญหาเรื่องการส่งออกเยอะ โควิด ก็เป็นปัญหาที่สำคัญอันหนึ่ง ทำให้การส่งออกของเราต้องสะดุดและ เกิดความล่าช้าในการส่งมอบข้าว ซึ่งจากการที่ผู้ส่งออก ของเราสะดุด ทำให้มีผลกระทบมาถึงโรงสีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ครั้นจะพึ่งการบริโภคข้าวภายในประเทศ ก็ไม่ได้ เพราะ อัตราการบริโภคก็หดหายไปอย่างมาก จาก ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม หรือ นักท่องเที่ยวก็ดี  ทำให้โรงสี ต้องแบกสต๊อกข้าว และเกิดความกังวล ยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากช่วงนี้ กำลังเป็น ช่วงเริ่ม ฤดูเก็บเกี่ยว ข้าวเปลือก ซึ่ง หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ข้าวเปลือกในฤดูนี้จะมากกว่าปีที่แล้ว ค่อนข้างมาก จึงดูจะยิ่งมีปัญหา มากขึ้น นอกจาก จะต้องระมัดระวังตัวเอง กับการที่ เกษตรกรนำข้าวมาขาย แต่ละที่ก็ต้องมีมาตรการรักษาระยะห่างแล้ว

 

ส่วนในเรื่องการป้องกันไวรัสโควิดเอง โรงสีเองก็กังวล และป้องกันตัวเอง อย่างแข็งแรงทุกโรง ในส่วนของสมาคมโรงสีได้เคยขอจัดสรรวัคซีนจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไปครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งได้รับการจัดสรรมาตามจำนวนที่ร้องขอ แต่ก็ยังมีโรงสีอีกจำนวนมากที่บุคลากรยังไม่ได้รับวัคซีน ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เริ่มมีการระบาดในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้ผู้รับซื้อข้าวสาร หลายราย เริ่มออกมาตรการสำหรับพนักงานส่งข้าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่พนักงานต้องได้รับวัคซีน หรือมีผลการตรวจหาเชื้อ โควิท มายืนยันในการเข้าไปส่งข้าวสาร แล้วนั้น

 

บรรยากาศ โรงสี ลานข้าว

 

นายรังสรรค์ กล่าวว่า ทางโรงสี ยังต้อง บริหาร เรื่องการเงินที่จะต้อง มาชำระให้กับ เกษตรกรอย่างไม่ขาดช่วงขาดตอนอีก ในฤดูนี้ ตัวเลข จากกระทรวง เกษตร ที่มีการลงทะเบียนทำนาในฤดูนี้ กว่า 60 ล้านไร่ ถ้าคิดเป็น ข้าวเปลือกที่จะได้ อยู่ประมาณ 33 ล้านตัน เป็นข้าวสาร 21 ล้านตัน ซึ่ง บริโภคภายในและ ทำเป็นอุตสาหกรรม รวม 10 ล้านตัน ส่งออก ปีนี้ถ้าได้ 5 ล้านตัน ก็จะเหลือข้าวสาร ถึง 6 ล้านตันเป็นสต๊อก ที่จะต้องหาทางแก้ไข

 

อย่างไรก็ดี ขอฝาก ไปยัง รัฐบาล ตามที่มีนโยบายคู่ขนาน กับการ ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ช่วยเหลือ ค่าบริหารการจัดการ ไร่ละ 1,000 บาท โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก  โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว โครงการชดเชย ดอกเบี้ย ให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เป็นต้น  เหล่านี้ ต้องเร่งทำให้ทันฤดูกาลนี้ ทำให้เกิดผลรูปธรรม ในทางปฏิบัติโดยเร็ว เพื่อให้เกษตรกร ชาวนา มีรายได้ที่คุ้ม กับการ ทำนา มีกำลังใจ จะได้คลายกังวลความเครียดและคลายทุกข์ กับ โรคระบาด โควิค ในขณะนี้ด้วย

 

สุดท้าย ขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้กับ เกษตรกร ตลอดจนถึง ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมข้าว รวมทั้งรัฐบาล ร่วมมือร่วมใจ ฝ่าฟันวิกฤติ ในครั้งนี้ให้รอด และปลอดภัย ไปด้วยกัน