คิกออฟ 7 ส.ค. ลงทะเบียนแจกฟรีต้นฟ้าทะลายโจร

07 ส.ค. 2564 | 07:02 น.

“มนัญญา” สั่งกรมวิชาการเกษตร ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.doa.go.th แจกฟ้าทะลายโจร 2 สายพันธุ์ “พันธุ์พิจิตร-พันธุ์พิษณุโลก“ พร้อมคู่มือ ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป คิกออฟ 7 ส.ค. นี้

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า  ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจรให้แก่สหกรณ์การเกษตร  เกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไปได้นำไปปลูกเพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับกระทรวงสาธารณสุขนำไปผลิตเป็นยาสมุนไพรเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 

 

โดยกรมวิชาการเกษตรสนับสนุนต้นกล้าพันธุ์ฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นผลงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 2 สายพันธุ์ที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์สูง  คือ สายพันธุ์พิจิตร 4-4 ซึ่งมีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์มากถึง 12.20  กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม  และสายพันธุ์พิษณุโลก 5-4  มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์มากถึง  8.89 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม  ให้กับสหกรณ์ที่สนใจร่วมโครงการส่งเสริมปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจรรวมทั้งเกษตรกร  ซึ่งมั่นใจว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น

 

นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมต้นกล้าพันธุ์ฟ้าทะลายโจรไว้ 2 สายพันธุ์ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าพันธุ์การค้าทั้ง 2 สายพันธุ์  คือพันธุ์พิจิตร 4-4 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 3,880 กิโลกรัมต่อไร่ และพิษณุโลก 5-4 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 4,187 กิโลกรัมต่อไร่  จำนวน 800,000 ต้น

 

พันธุ์พื้นเมืองพิจิตร

โดยจะมอบให้จังหวัดอุทัยธานีนำไปปลูกนำร่องเป็นจังหวัดแรก จำนวน 24,000 ต้น  และเปิดให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจลงทะเบียนจองต้นกล้าพันธุ์ฟ้าทะลายโจรได้ฟรีโดยจำกัดคนละ 5 ต้น ผ่านเว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร www.doa.go.th   ตั้งแต่วันที่ 7 – 31 สิงหาคมนี้   และจะเริ่มแจกต้นกล้าพันธุ์ฟ้าทะลายให้ผู้ที่สั่งจองได้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2564 เป็นต้นไป

 

“นอกจากกรมวิชาการเกษตรจะแจกต้นกล้าพันธุ์ฟ้าทะลายโจรให้กับผู้ที่สนใจแล้ว  ยังได้จัดทำคู่มือการปลูกฟ้าทะลายโจรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย  เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรและผู้สนใจได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในพื้นที่ของตนเอง  โดยในคู่มือจะประกอบไปด้วย   สารสำคัญในฟ้าทะลายโจร  การปลูกและการดูแลรักษา  การจัดการศัตรูพืช  การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว  โดยสามารถดาวน์โหลดคู่มือดังกล่าวได้ผ่านทางเว็บไซต์ คลิกที่นี่ ด้วยเช่นกัน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว