ยุคโควิดชีวิตเปลี่ยน แห่ช็อปออนไลน์ 3เดือนพุ่ง 2.2 แสนล้าน

22 ก.ค. 2564 | 08:42 น.

พาณิชย์ชี้พฤติกรรมผู้บริโภคยุคโควิด หันช็อปออนไลน์กระจาย เผย 13 กลุ่มสินค้ายอดฮิต โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เป็นสินค้าที่ยอมควักจ่ายแพงสุด โชว์ตัวเลขรอบ 3 เดือนแรกของปีนี้ยอดสั่งซื้อออนไลน์พุ่งกว่า 2.2 แสนล้าน เฉลี่ย 7.5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน

 วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นในปี 2563 ลากยาวถึงปัจจุบัน และการแพร่ระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 หมื่นคนต่อวัน ส่งผลพฤติกรรมผู้บริโภคยุค New Normal ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ยิ่งการล็อกดาวน์ล่าสุดใน 13 จังหวัดสีแดงเข้ม รัฐบาลประกาศให้ประชาชนทำงานที่บ้าน (Work from Home)  คาดการสั่งสื่อสินค้าและบริการผ่านออนไลน์จะสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้พบว่าคนไทยช้อปซื้อสินค้าผ่านทางไลฟ์สดมากถึง 40% รองลงมาคือช่องทางอี-คอมเมิร์ซ กว่า 37% จะเห็นได้ว่า เทรนด์ช็อปปิ้งออนไลน์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 ทั้งนี้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์  ได้ทำแบบสำรวจเมื่อช่วงเดือนเมษายน ระหว่างเดือน มกราคม-มีนาคม 2564 จากผู้บริโภคทั่วประเทศกว่า 7,000 ราย พบว่า คนไทยมีการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 75,000 ล้านบาทต่อเดือนหรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.25 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 45.5%% เมื่อเทียบกับผลการสำรวจเมื่อครั้งก่อน

ยุคโควิดชีวิตเปลี่ยน แห่ช็อปออนไลน์ 3เดือนพุ่ง 2.2 แสนล้าน

  นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผย กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกระแสการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ว่า เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคทำงานที่บ้านมากขึ้น จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบการความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าไม่ต้องเดินทางออกนอกบ้าน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแค่ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ ยอดการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์พุ่งสูงมากถึง 2.25 แสนล้านบาท จากที่ สนค.เคยสำรวจช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 (สำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยช่วง ส.ค.-ต.ค.2563) ที่มีมูลค่า 52,000 ล้านบาทต่อเดือน

 สำหรับสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อผ่านออนไลน์พบมี 13 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมซื้อออนไลน์สูงสุด รองลงมา คือ อาหารและเครื่องดื่ม, สินค้าสุขภาพ เครื่องสำอาง ของใช้ส่วนบุคคล, ของใช้ในบ้าน สำนักงาน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์,  โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ, เครื่องกีฬา เครื่องเขียน, เพลง ภาพยนตร์ และสินค้าบันเทิงอื่น ๆ , ซอฟต์แวร์ เกมส์, การจอง/บริการต่าง ๆ, คอมพิวเตอร์, ของเล่น และ หนังสือ นิตยสาร ตามลำดับ (กราฟิกประกอบ)

 ทั้งนี้ โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ เป็นสินค้าที่มีสัดส่วนใช้จ่ายออนไลน์สูงสุดถึง 17.54% รองลงมาเป็นเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ 14.37% และอาหารและเครื่องดื่ม 13.22% แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อความสะดวกสบายในชีวิต

 “สินค้าที่ได้รับความนิยมซื้อออนไลน์สูงสุด คือ สินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ขณะที่กลุ่มโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ เป็นสินค้าที่มีสัดส่วนยอดการใช้จ่ายออนไลน์สูงที่สุด สอดคล้องกับพฤติกรรม ผู้บริโภคในยุคนิว นอร์มอล จะเห็นได้ว่าการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปีที่ผ่านมา คิดเป็น 68.97% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายมากกว่าที่เคยประมาณการณ์ไว้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีที่ผ่านมาถึง 45.05% ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากพฤติกรรมในช่วงโควิด-19 เป็นสำคัญ ที่ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้จ่าย ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น”

ยุคโควิดชีวิตเปลี่ยน แห่ช็อปออนไลน์ 3เดือนพุ่ง 2.2 แสนล้าน

 อย่างไรก็ตาม คาดว่าการใช้จ่ายออนไลน์จะยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังอยู่ในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ที่มีผลให้ร้านค้าต่าง ๆ หยุดให้บริการชั่วคราว ทำให้ประชาชนต้องหันมาจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดย สนค. จะทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคออนไลน์อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้

 ขณะที่รายงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า พฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นทั้งผู้ซื้อในประเทศและต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นโอกาสที่จะช่วยผลักดันการส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อในช่วงครึ่งปีหลังอย่างเข้มข้น ในการปรับรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ Mirror-Mirror ที่ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าแค่ส่งตัวอย่างสินค้าไปจัดแสดง หรือมอบหมายตัวแทนจำหน่ายเข้าร่วมงานแทน และจัดระบบเจรจาการค้าผ่านออนไลน์

 โดยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ได้มีการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ไปแล้วรวม 44 ครั้ง ในสินค้าต่าง ๆ เช่น อาหาร ผลไม้ สินค้าฮาลาล สินค้าเครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น สามารถทำรายได้เข้าประเทศจากกิจกรรมที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์กว่า 14,679.19 ล้านบาท

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,698 วันที่ 22 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564