"บีโอไอ"ไฟเขียวโครงการใหญ่แตะ 5 หมื่นล้านหนุนกิจการผลิตไฟฟ้า

30 มิ.ย. 2564 | 10:30 น.

บอร์ดบีโอไออนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่รวมเกือบ 50,000 ล้านบาท หนุนกิจการสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐานในการผลิตไฟฟ้า การขนส่งก๊าซทางท่อ

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนกับกิจการขนาดใหญ่รวม 5 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 49,911 ล้านบาท ประกอบด้วยกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานและบริการพื้นฐานในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานอื่นๆ และกิจการสร้างสรรค์ ดังนี้
    1.บริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชัน มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 32,464 ล้านบาท โครงการผลิตไฟฟ้าขนาด 1,540 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี
    2.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 2 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำระบบโคเจนเนอเรชัน มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 5,300 ล้านบาท มีกำลังการผลิตไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชัน 145 เมกะวัตต์ ไอน้ำระบบโคเจนเนอเรชัน 30 ตัน/ชั่วโมง ตั้งโครงการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง
    3.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 3 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำระบบโคเจนเนอเรชัน มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 5,200 ล้านบาท มีกำลังการผลิตไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชัน 145 เมกะวัตต์ ไอน้ำระบบโคเจนเนอเรชัน 30 ตัน/ชั่วโมง และขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ 13,914 ล้านลูกบาศก์ฟุต/ปี ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง
    4.บริษัท ท็อป เอสพีพี จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำระบบโคเจนเนอเรชัน มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 4,350 ล้านบาท โครงการผลิตไฟฟ้าขนาด 120 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 294 ตัน/ชั่วโมง ตั้งโครงการที่จังหวัดชลบุรี
    5.บริษัท โตโยโบะ อินโดรามา แอดวานซ์ ไฟเบอร์ส จำกัด ผลิตเส้นด้ายที่มีคุณสมบัติพิเศษ ซึ่งเป็นเส้นด้ายสังเคราะห์ความหนาแน่นสูง ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงลมนิรภัยรถยนต์ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 2,596 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
    “กิจการที่บอร์ดบีโอไออนุมัติส่งเสริมในครั้งนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ด้านกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
ของประเทศในระยะยาวตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 แล้ว ยังเป็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมพื้นฐานเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตภายหลังจากภาคเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) อีกด้วย” 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :