เจาะลึกอุตสาหกรรมไทยอยู่ตรงไหนของเวทีโลก

30 มิ.ย. 2564 | 04:55 น.

วิจัยกรุงศรี เจาะเบื้องลึกศักยภาพอุตสาหกรรมไทยในระดับโลก อยู่ในอันดับที่เท่าไร มีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง และจะแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างไร

วิจัยกรุงศรี เผยแพร่บทความในหัวข้อ "อุตสาหกรรมไทย:อยู่ตรงไหนและจะแข่งขันอย่างไรในเวทีโลก"โดยเนื้อหาบางท่อนบางตอนได้เผยถึง ศักยภาพอุตสาหกรรมไทยในระดับโลก ปัจจุบันไทยมีศักยภาพทางอุตสาหกรรมเป็นอันดับที่ 35 ของโลกจาก 64 ประเทศ (อันดับ 2 ของประเทศกลุ่มอาเซียน) โดยมีอุตสาหกรรมของไทยที่ติดอันดับ 1 ใน 15 ของโลกทั้งหมด 7 อุตสาหกรรม 


อาทิ อุตสาหกรรมผลิตถ่านโค้กและผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม (อันดับ 9) อุตสาหกรรมยางและพลาสติก (อันดับ9) อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม (อันดับ11) ธุรกิจดูแลสุขภาพ (อันดับ11) กิจการเกี่ยวกับศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ (อันดับ13) กิจการค้าปลีกและค้าส่ง (อันดับ14) และอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ (อันดับ15)
ในทางตรงกันข้ามยังมีอุตสาหกรรมที่ต้องการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เช่น การศึกษา (อันดับ60) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (อันดับ61) และการก่อสร้าง (อันดับ64) เป็นต้น (รูปที่ 2)

รูปที่ 2

 

เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก อุตสาหกรรมของไทยที่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของภูมิภาค (จาก 13 ประเทศ) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยางและพลาสติก อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจดูแลสุขภาพ อย่างไรก็ดี มีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค 


สำหรับกลุ่ม ASEAN จะเห็นว่ามีหลายประเทศที่มีศักยภาพโดดเด่นจนติดอันดับ 5 ของโลก อาทิ เวียดนามในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ สิงคโปร์ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการเงินและอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อินโดนีเซียที่มีความชำนาญในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมเหมืองแร่


ขณะที่ประเทศนอกกลุ่มอาเซียนอย่างญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีและไต้หวัน มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ การสื่อสาร อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ

 
ดังนั้น หากมองในมุมบวกช่องว่างของความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศเหล่านี้อาจเป็นโอกาสอันดีที่อุตสาหกรรมไทยจะฉวยโอกาสจากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้าจากประเทศใกล้เคียงเพื่อปรับปรุงข้อบกพร่อง พัฒนาประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถตามรายอุตสาหกรรมได้

เมื่อพิจารณารายละเอียดของดัชนีศักยภาพอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่ของไทยมีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าและบริการ และสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ได้ตรงความต้องการของตลาดโลก อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมไทยกลับสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตสินค้าได้ไม่มากเท่าที่ควร เช่น อุตสาหกรรมยางและพลาสติก กิจการเกี่ยวกับศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ เป็นต้น 


สะท้อนว่าแม้ประเทศไทยมีทรัพยากรที่ดีและมีบทบาทในตลาดการผลิตและการค้าโลกสูง แต่ผลตอบแทนที่แท้จริงต่อผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรมรวมถึงสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงยังมีไม่มาก ส่งผลให้มีการสะสมทุนในระดับต่ำและอาจจำกัดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี  ปัจจัยเหล่านี้จะคอยกดดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

 

วิจัยกรุงศรียังได้คาดการณ์ศักยภาพของอุตสาหกรรมใน 5 ปีข้างหน้า พบว่าการแข่งขันของอุตสาหกรรมในตลาดโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น สะท้อนจากค่า Herfindal – Hirschman Index ซึ่งหากค่าดังกล่าวลดลงจะแสดงถึงการแข่งขันที่มากขึ้น โดยพบว่าอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงขึ้นมีทั้งหมด 17 อุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจดูแลสุขภาพ ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มแข่งขันลดลงมีทั้งสิ้น 8 อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมขุดเจาะพลังงาน และธุรกิจบริการเหมืองแร่ เป็นต้น (รูปที่ 3)

รูปที่ 3

สำหรับอุตสาหกรรมไทย มีอุตสาหกรรมที่จะมีแนวโน้มดีขึ้น 19 อุตสาหกรรม อาทิ กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจการที่พักแรม การให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมขนส่ง สังเกตได้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ โดยแนวโน้มที่ดีขึ้นในอนาคตนั้นมาจากผลิตภาพการผลิตของแรงงานและผู้ประกอบการที่ดีเป็นทุนเดิม


ในทางตรงกันข้ามมีอุตสาหกรรมที่อันดับแย่ลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงทั้งหมด 16 อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะการผลิตสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ประกอบด้วยอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้นับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของไทย และส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อย (รูปที่ 4)

รูปที่ 4
 

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอีกปัจจัยซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งจากเวียดนาม กัมพูชา มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า เวียดนามจะมีการเติบโตดีขึ้นในเกือบทุกอุตสาหกรรม นำโดยอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์ คอมพิวเตอร์และเคมีภัณฑ์ (รูปที่ 5) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของเวียดนามในการทำให้ฐานการผลิตในประเทศเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีความทันสมัย 

 

รูปที่ 5

นอกจากนี้ กัมพูชามีแนวโน้มจะแข่งขันได้ดีขึ้นในภาคการเกษตรจากอันดับ 27 เป็นอันดับ 21 อินโดนีเซียจะมีการเติบโตด้านการศึกษาจากอันดับ 37 เป็นอันดับ 27 ขณะที่มาเลเซียจะสามารถแข่งขันดีขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องจักรจากอันดับ 45 เป็นอันดับ 35 และการสื่อสารจากอันดับ 55 เป็นอันดับ 45 


แม้ว่าความสามารถโดยรวมของประเทศเหล่านี้ในหลายอุตสาหกรรมยังต่ำกว่าประเทศไทย แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนช่องว่างของความได้เปรียบของไทยที่ลดลง และเมื่อมองไปข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงที่อาจโดนประเทศเหล่านี้แซงหน้าซึ่งจะส่งผลต่อทั้งระดับความสามารถในการผลิต การลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ที่มา:วิจัยกรุงศรี