รศ.ดร.ปิติ ชี้ ‘ประชุมผู้นำอาเซียน’ คือความสำเร็จของทั้งภูมิภาค

24 เม.ย. 2564 | 14:46 น.

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ชี้ ‘ประชุมผู้นำอาเซียน’ คือความสำเร็จของทั้งภูมิภาค

     รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จากศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Piti Srisangnam ว่า ถึงแม้แถลงการณ์ของประธานการประชุม (Chair’s Statement) อย่างเป็นทางการจากบรูไนยังไม่ได้มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะแถลงการณ์อย่างเป็นทางการต้องมีการขัดเกลาข้อความให้ยกระดับ เข้มข้น และในขณะเดียวกันก็ต้องสระสรวย และประนีประนอม ดังนั้นจึงต้องใช้เวลา แต่การประชุมผู้นำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ในวันที่ 24 เมษายน 2021 สำหรับผมแล้วถือว่านี่คือความสำเร็จของทั้งภูมิภาค เป็นการยกระดับและเดินหน้าความสัมพันธ์ของ 10 ประเทศสมาชิกไปอีกระดับ

      ที่ผ่านมา เวลามีเรื่องในทำนองนี้ เช่น การรัฐประหาร ความขัดแย้ง หรือสถานการณ์ความไม่สงบ ในประเทศใดประเทศหนึ่ง สมาชิกอาเซียนก็มักจะกล่าวว่านี่คือ กิจการภายใน ดังนั้นแต่ละประเทศสมาชิกจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วม หรือยุ่งเกี่ยว หรือในบางครั้งอาจจะมีการเข้าไปให้การช่วยเหลือสนับสนุน แต่ก็มักจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้นำประชุมกันในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ (Retreat) ปิดห้องคุยกันเฉพาะผู้นำ 10 ประเทศกับเลขาธิการอาเซียน

     แต่ครั้งนี้ ในกรณีของเมียนมา ผู้นำอาเซียนสามารถยกระดับ เอาเรื่องที่เป็นกิจการภายในของประเทศสมาชิกขึ้นมาพูดคุย หารืออย่างสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นทางการ มีคณะทำงานเต็มคณะ เปิดเผย และโปร่งใส รวมทั้งยังสามารถนำเอาผู้นำของประเทศที่มีความน่าห่วงกังวลมาประชุมร่วมกันได้ การประชุมเริ่มต้นจากการที่ พลเอกอาวุโส มินอ่อง หล่าย เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาและความจำเป็นที่ทำให้ต้องมีการทำรัฐประหาร ต่อด้วยผู้นำอาเซียน และ/หรือ ผู้แทน แต่ละประเทศกล่าวถึง สิ่งที่พวกเขาต้องการอยากจะเห็น และเสนอหาทางออก ก่อนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่สามารถแสวงหามติเอกฉันท์ที่ทุกประเทศยอมรับกันได้

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม 

นี่จึงเป็นการยกระดับให้อาเซียนก้าวหน้าไปอีกขั้น

     ผลการประชุมอย่างไม่เป็นทางการยังไม่ออกมา แต่เราพอจะทราบถึงจะทราบจากการแถลงของนายกรัฐมนตรี Lee Hsien Loong ได้ว่า ผลลัพธ์จากการประชุมในครั้งนี้จะมี 5 ประการ และทราบจาก twitter ของรองนายกรัฐมนตรี ดอน ปรมัตถ์วินัย ได้ว่าประเทศไทยเสนอ 4 ข้อ บนหลักการที่เรียกว่า “#D4D” อันได้แก่ De-escalating Violence ยุติความรุนแรงในเมียนมาอย่างทันที, Delivering Humanitarian Assistance ส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, Discharge of Detainees เปิดช่องให้เกิดการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง และ Dialogue การถกแถลงเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกัน

     และเมื่อนำมาร่วมกันการแถลงผลการประชุมของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย Muhyiddin Yassin และ ประธานาธิบดี Joko Widodo แห่งอินโดนีเซีย เราก็จะทราบได้ว่า ผลลัพธ์ข้อที่ 5 คือ การส่งตัวแทนคณะทำงานของอาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์และประสานงานกับทุกฝ่ายในประเทศเมียนมา ซึ่ง พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย  ก็ยินยอมให้เกิดขึ้น(ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า การแสวงหาทางออกอย่างสร้างสรรค์)

     ซึ่งหลังจากนี้อาเซียนต้องหารือกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า คณะทำงานของอาเซียนที่จะเข้าไปในเมียนมา จะมีตัวแทนจากใคร ตำแหน่ง หน้าที่ ความรับผิดชอบ และบทบาทของแต่ละตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกจะเป็นอย่างไร

     สำหรับความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยธรรม เท่าที่ตัวผมเองเคยศึกษามา กลไกสำคัญของอาเซียนที่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีคือ ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management (AHA Centre) หรือ ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ ที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมทรัพยากรจากทุกประเทศสมาชิกเพื่อช่วยเหลือคนเมียนมาโดยชุดปฏิบัติการที่จะลงไปในพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือกับประชาชนเมียนมาคือ One ASEAN One Response ซึ่งสามารถส่งทีมลงพื้นที่ได้ทันทีภายใต้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเป็นหนึ่งเดียวกันด้านการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม 

     ในขณะที่อุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้วตั้งแต่สมัยที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 นั่นคือ เต้นท์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ห้องน้ำและระบบสาธารณสุขเคลื่อนที่ ตลอดจนเครื่องมือช่วยเหลือต่างๆ ที่เราเก็บเอาไว้ในคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่จังหวัดชัยนาท ภายใต้โครงการ ระบบโลจิสติกส์ฉุกเฉินสำหรับใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติของอาเซียน (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN: DELSA) รวมทั้งการให้การสนับสนุนด้านบุคลากรทางการแพทย์จาก ศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre of Military Medicine: ACMM) ซึ่งมีกรมการแพทย์ทหารบกของไทยเป็นกำลังสำคัญ 

    อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ก็ยังมีเรื่องที่สำคัญ และยังไม่ได้เห็นท่าทีของผู้นำอาเซียนในประเด็นนี้ร่วมกันอย่างชัดเจน นั่นคือ อาเซียนยังไม่ได้ส่งสัญญาณไปในเวทีโลก ผ่านไปยังประเทศคู่เจรจาหลักของอาเซียน (Dialogue Partners) ทั้ง 10 ประเทศอันได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ให้ยุติการขายอาวุธ และการให้ความร่วมมือทางการทหารกับเมียนมา  (Arms Embargo) แน่นอนว่าเราต้องการพุ่งเป้าไปที่ 4 ประเทศสำคัญ นั่นคือ รัสเซีย จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา แต่การชี้นิ้วไปที่แค่ 4 ประเทศก็คงไม่เหมาะดังนั้นต้องแสดงท่าทีต่อทุกประเทศคู่เจรจาอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งการประกาศจุดยืนของอาเซียนอย่างหนักแน่นว่าอาเซียนไม่ต้องการการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอก ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเปราะบางและค่อนข้างยาก เพราะแต่ละประเทศสมาชิกต่างก็มีความใกล้ชิดกับมหาอำนาจต่างๆ ในระดับที่แตกต่างกันออกไป

     นอกจากนั้นแล้วอีก 1 เรื่อง ซึ่งผู้นำอาเซียนทุกประเทศคงจะต้องเร่งทำความเข้าใจกับภาคประชาชน นั่นคือ เพราะเหตุใดอาเซียน จึงประชุมร่วมกับ มิน อ่อง หล่าย แต่ไม่มีการประชุมกับตัวแทนจาก National Unity Government (NUG) ที่มาจากภาคประชาชนของเมียนมา และนี่คือความยากและซับซ้อน อย่าลืมว่า มิน อ่อง หล่าย คือคนที่กุมอำนาจรัฐ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ในขณะที่ NUG ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่ไม่มีอำนาจ ไม่มีแขนขา ในการบังคับใช่กฎหมาย แน่นอนการพูดคุยกับทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมกันเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ยาก เพราะ NUG มาร่วมประชุมมิน อ่อง หล่าย ก็จะไม่มาประชุม และถ้า มิน อ่อง หล่าย ไม่มาประชุม การยุติความรุนแรงก็เกิดขึ้นไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ ตกลงอะไรไปกับ NUG การบังคับใช้ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะ NUG ไม่ได้คุมอำนาจรัฐ ดังนั้นเมื่อเดินหน้าสร้างผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้จริง (Practical) เราอาจต้องยอมทิ้งอุดมคติ (Ideal) การพูดคุยกับมิน อ่องหล่าย อาจะเป็นการยอมรับ (Endorse) สถานะผู้นำให้เขา แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่หนทางที่จะหยุดยั้งความรุนแรงในเมียนมา 

และในตอนนี้แถลงการณ์ของประธานอาเซียนก็ออกมาแล้ว เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาผู้นำมีมติเอกฉันท์ดังต่อไปนี้:

1. ต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

2. การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้อง

เริ่มต้นที่จะแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

3. ตัวแทนพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกในการไกล่เกลี่ย ของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทาง

ศูนย์ AHA

5. ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

      จะเห็นได้ว่า ส่ิงหนึ่งซึ่งหายไปจากแถลงการณ์มติฉันท์ทั้ง 5 ข้อ คือ การปล่อยตัวประธานาธิบดี วิน มินต์, ที่ปรึกษาแห่งรัฐ อองซาน ซูจี และผู้ถูกคุมขังทางการเมือง ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นี่จะเป็นภารกิจสำคัญที่สุด ที่คณะผู้แทนของอาเซียนที่จะเข้าไปในเมียนมาต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ ถ้าเป็นไปได้ อยากเป็นส่วนหนึ่งของคณะอาเซียนที่จะไปเมียนมาครับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :