“NEA” ผนึก 7 มหาวิทยาลัยจัดหลักสูร 1 ปี ปั้นเจนซีให้เป็น “CEO”

28 ส.ค. 2563 | 13:50 น.

สถาบัน “เอ็นอีเอ” ร่วมมือ 7 มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตร 1 ปี “ปั้นเจนซีให้เป็นซีอีโอ” ดันนักศึกษา 12,000 คน เรียนจบทำธุรกิจเองทันที

รายงานข่าวระบุว่า สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ เอ็นอีเอ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำภาคเหนือ 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดำเนินโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ สร้างเจนซีให้เป็นซีอีโอ  “From Gen Z to be CEO”  เพื่อเตรียมความพร้อม และสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่จากภาคการศึกษาสู่การค้าระหว่างประเทศ

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักศึกษา ผู้ประกอบการ บุคคลทั่วไปในระดับภูมิภาค พร้อมนำร่องยกระดับและพัฒนานักศึกษาภาคเหนือกว่า 1,500 ราย สู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ รวมถึงสถาบันอาชีวศึกษา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วทุกภูมิภาค ในการสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาเพื่อเป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจระหว่างประเทศที่มีศักยภาพ โดยตั้งเป้าว่าจะมีนักศึกษาเข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 12,000 รายต่อปี

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดี DITP เปิดเผยว่า  DITP กระทรวงพาณิชย์ ยังคงมุ่งมั่นในยุทธศาสตร์และแนวทางที่จำเป็นในปัจจุบันคือการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นคนรุ่นใหม่ เช่น บัณฑิตใหม่ ผู้ที่กำลังศึกษาในระดับอาชีวะและอุดมศึกษา กลุ่มเยาวชนที่มีความสนใจและมีความฝันในการประกอบธุรกิจ รวมไปถึงกลุ่มคนเจนเนอเรชั่นซี (Gen Z) 

“NEA” ผนึก 7 มหาวิทยาลัยจัดหลักสูร 1 ปี ปั้นเจนซีให้เป็น “CEO”

ทั้งนี้  จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจปีล่าสุด ประชากรไทยมีทั้งหมด 66.5 ล้านคน แบ่งออกเป็นกลุ่มคนเจนเนอเรชั่นซี (Gen Z) ถึง 12.6 ล้านคน คิดเป็น 18.95% ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากนั้น GEN Z ที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆนอกเหนือจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ยังมีมากถึง 10.6 ล้านคน หรือเกือบ 85% ของ Gen Z ทั้งประเทศ  ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ภายในระยะเวลา 5 - 10 ปี คนกลุ่มนี้จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด รวมทั้งมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยทั้งในเชิงมิติเศรษฐกิจและเชิงสังคม

“จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในภาคการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้เพิ่มเติมจากหลักสูตรของแต่ละสถาบันโดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสเพิ่มทักษะและความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อให้ในอนาคตสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดให้เกิดการเติบโตทางการค้า การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงประยุกต์ใช้กับความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัวของคนรุ่นใหม่ไปใช้ในการส่งเสริมการจ้างงาน และสร้างโมเดลธุรกิจที่แปลกใหม่ให้กับระบบนิเวศทางธุรกิจได้ต่อไป”

              นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการ NEA กล่าวว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่  ได้นำร่องพัฒนาหลักสูตร  “สร้างเจนซีให้เป็นซีอีโอ  “From Gen Z to be CEO”  บูรณาการหลักสูตรการศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ 7 แห่ง  ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ทำงานร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ในพื้นที่ภูมิภาคเหนือ เกี่ยวกับการระดมองค์ความรู้ที่เหมาะสมและหารือด้านการนำมาประเมินและวัดผลเป็นหน่วยกิตให้กับนักศึกษาที่จบหลักสูตร

และต่อยอดในการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการทำการค้าระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต  โดยนำร่องยกระดับและพัฒนานักศึกษาภาคเหนือกว่า 1,500 ราย  โดยจะขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงสถาบันอาชีวะ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายไว้อบรมนักศึกษาไว้ 12,000 คนต่อปี  

“NEA” ผนึก 7 มหาวิทยาลัยจัดหลักสูร 1 ปี ปั้นเจนซีให้เป็น “CEO”

สำหรับหลักสูตรดังกล่าวจะแบ่งเนื้อหารายวิชาที่มีจำนวน 3 หน่วยกิต (45 ชั่วโมงเรียน) แบ่งออกเป็นเนื้อหาปกติ 70% และเนื้อหาของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ 30% (จำนวนชั่วโมงเรียนเทียบเท่าหรือไม่น้อยกว่า 1 หน่วยกิต หรือ 15-18 ชม.) โดยหลักสูตรนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อม และสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่จากภาคการศึกษาสู่การค้าระหว่างประเทศในอนาคตต่อไป โดยหลักสูตรดังกล่าว แบ่งเป็นหัวข้อรายวิชาดังนี้

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ส่งออกเพื่อการสร้างแรงบันดาลใจสู่การเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ มีเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการเตรียมความพร้อมในการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการส่งออกและนำเข้าสินค้า และปัญหาที่คาดไม่ถึง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่

วิเคราะห์สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ เจาะลึกสถิติมูลค่าการส่งออกเพื่อการตลาดต่างประเทศ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำการตลาดและการบริหารแบรนด์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาได้นำไปปรับใช้ในการทำงานจริง

เจาะลึกแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ Cross Border E-Commerce กับ Alibaba มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์สินค้าเพื่อส่งออกไปทั่วโลก ผ่านช่องทางออนไลน์ และยังเปิดโอกาสให้กับผู้เรียนได้ทำการตลาดออนไลน์ด้วยอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มจาก Alibaba.com

รู้ทันระบบขนส่งสินค้าออนไลน์ด้วย Logistic อย่างครบวงจร มีเนื้อหาเกี่ยวกับขั้นตอนการขนส่งสินค้าไปต่างประเทศเบื้องต้น การตรวจสอบโครงสร้างภาษี การนำเข้าของประเทศผู้ซื้อปลายทาง และระบบขนส่งสินค้าออนไลน์ด้วย Logistic อย่างครบวงจร

อัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีให้อยู่รอดในยุคดิจิทัล Digital Disruption & Digital Trend มีเนื้อหาเกี่ยวกับ   การอัปเดตเทรนด์ในยุคดิจิทัลและการเจาะลึกสถิติต่างๆบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงวิธีการใช้โฆษณาบน Google

“โครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่  สร้างเจนซีให้เป็นซีอีโอ จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการที่เป็นคลื่นลูกใหม่ด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย ที่มีความมั่นใจและมีความพร้อมต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป อีกทั้ง ยังสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้เป็นผู้ประกอบการตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะสถาบันมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนรุ่นใหม่ จึงคัดสรรองค์ความรู้ที่ดีมาถ่ายทอดที่เหมาะสม ทันสมัย จึงจะสามารถไปพัฒนาต่อยอด คิดใหม่ ปรับใหม่ ไอเดียใหม่ ให้กลายเป็นธุรกิจยุคใหม่ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติได้อย่างแน่นอน เมื่อประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ดี ก็จะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคต”