ผ่าอาณาจักร 4.8 หมื่นล้าน  มิตซูบิชิ อิเล็คทริคฯ ก่อนเลิกจ้าง 1,119 ชีวิต

17 เมษายน 2563

เปิดอาณาจักร 4.8 หมื่นล้าน มิตซูบิชิ อิเล็คทริคฯ รายกว่า 4.9 หมื่นล้าน กำไร 4.4 พันล้าน ก่อนเลิกจ้าง 1,119 ชีวิตหลังวิกฤติไวรัสโควิด-19

กรณีบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตเครื่องปรับอากาศสำเร็จรูปและผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ ประกาศเลิกจ้างลูกจ้างรับเหมาค่าแรงจากบริษัทรับเหมาค่าแรง 7 บริษัท จำนวนลูกจ้าง  รวม 1,119 คน และให้มีผลทันทีโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2563 โดยบริษัทแจ้งว่าจะกำหนดจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 41 ล้านบาท

“ฐานเศรษฐกิจ”ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียน จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์(ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน  2532 หรือเมื่อ 31 ปีที่แล้ว ทุนจดทะเบียน 1,200 ล้านบาท

ผ่าอาณาจักร 4.8 หมื่นล้าน  มิตซูบิชิ อิเล็คทริคฯ ก่อนเลิกจ้าง 1,119 ชีวิต

บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ฯ มีนักลงทุนญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่ 1,080 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90%  ของทุนจดทะเบียน ที่เหลืออีก10% เป็นนักลงทุนไทย 
วัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นส่วนประกอบของสินค้า

ส่วนคณะกรรมการบริษัท ประกอลด้วย นายโนริคาสึ อิชิคาว่า  นายยาสุมาสะ ยามาเนะ, นายเคน คูโบตะ, นายมาซาฟูมิ อันโด,นายทาโระ คาโต้, นายทาเคโนริ อะดาชิ, นายทาเคชิ โอชิมะ, นายชินจิ คามิยะ, นายฮิเดโทชิ โยโกยามะ, นายโทรุ โอโนดะและนางรุ่งระภี ศรีพิทักษ์สกุล

ภาพจาก Mitsubishi Electric

ขณะที่กรรมการลงชื่อผูกพัน ได้แก่ นายโนริคาสึ อิชิคาว่า , นายยาสุมาสะ ยามาเนะ, นายเคน คูโบตะ, นายฮิเดโทชิ โยโกยามะ,นางรุ่งระภี ศรีพิทักษ์สกุล กรรมการจำนวนสองในห้าคนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญบริษัท

มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ฯ มีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2562 กว่า 48,010 ล้านบาท หนี้สินรวม 10,545 ล้านบาท

เมื่อตรวจสอบงบกำไรขาดทุนพบว่า ในปี 2560 บริษัทมีรายได้รวม 47,669 ล้านบาท รายจ่ายรวม  38,452 ล้านบาท  กำไรสุทธิ 8,986 ล้านบาท 

ปี 2561 มีรายได้รวม 42,582 ล้านบาท รายจ่ายรวม 37,512  ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,788 ล้านบาท

ปี 2562 มีรายได้รวม 49,166 ล้านบาท รายจ่ายรวม 44,376 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,423 ล้านบาท

ภาพจาก Mitsubishi Electric

 ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงกรณีเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริคฯ พบว่า บริษัทดังกล่าวมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ประกอบกิจการผลิตเครื่องปรับอากาศสำเร็จรูปและผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ 

บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริคฯมีลูกจ้างโดยตรง 2,500 คน และมีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงอีก 2,600 คน การเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างลูกจ้างรับเหมาค่าแรงจากบริษัทรับเหมาค่าแรง 7 บริษัท จำนวนลูกจ้าง  รวม 1,119 คน และให้มีผลทันทีโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2563 

ทั้งนี้ บริษัทแจ้งว่าได้กำหนดจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 41 ล้านบาท โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารของลูกจ้าง  ทุกรายที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งขณะนี้ลูกจ้างได้รับเงินดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และจะจ่ายค่าจ้างในวันที่ 20 เมษายน 2563 โดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารลูกจ้างเช่นกัน

อธิบดีกสร. กล่าวต่อว่า กสร. ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีลงพื้นที่ไปพูดคุยกับนายจ้าง ลูกจ้าง พร้อมทั้งชี้แจงสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายให้แก่นายจ้างลูกจ้างได้ทราบเรียบร้อยแล้ว 

อย่างไรก็ตาม กสร.ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยให้ตรวจสอบกับลูกจ้างว่าได้รับค่าจ้างถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าไม่ถูกต้องให้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างทันที

พร้อมทั้งให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการจัดหางานในการจัดหางานใหม่ทดแทน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกรณีที่ลูกจ้างต้องการฝึกอาชีพและสำนักงานประกันสังคมในการดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำหรับบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัดเป็นบริษัท ในกลุ่ม มิตซูบิชิกรุ๊ปของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเว็บไซต์ https://th.mitsubishielectric.com/th/ ได้มีการบอกเล่าถึงประวัติ ประวัติของ Mitsubishi Electric ประวัติของกลุ่ม Mitsubishi ไว้อย่างละเอียด ไว้ในลิงค์นี้ ใจความว่า
ผู้ก่อตั้ง
ชายหนุ่มผู้ทะเยอทะยานชื่อ Yataro Iwasaki เปิดตัวบริษัท Mitsubishi ครั้งแรก - ในฐานะบริษัทขนส่งสินค้า - ในปี 1870 ประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงจากยุคศักดินาและรีบเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อแข่งขันกับ ชาติตะวันตก ธุรกิจของ Yataro เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและแตกสาขาไปเป็นการผลิตและการพาณิชย์ในหลากหลายรูปแบบ สงครามโลกครั้งที่ 2 นำความสิ้นสุดสู่ Mitsubishi ในฐานะองค์กรขนาดใหญ่ที่ดำเนิน กิจการทุกอย่างแบบรวมศูนย์ แต่บริษัทอิสระต่างๆ ที่มีรากฐานมาจากองค์กร Mitsubishi เดิม ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบันในแทบทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม

Yataro Iwasaki เป็นชาวเมืองโคจิซึ่งตั้งอยู่บนบนเกาะชิโกกุ ซึ่งเป็นฐานอิทธิพลของตระกูล Tosa (Tosa Clan) ผู้ทรงอำนาจ เขาเคยทำงานให้กับตระกูลแห่งนี้และสามารถสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่นใน การจัดการองค์กรการค้าของตระกูล Tosa ในโอซาก้า ในปี 1870 เขาได้ก่อตั้งบริษัทขนส่งสินค้า Tsukumo Shokai ของตัวเอง โดยขอเช่าเรือกลไฟสามลำจากตระกูล Tosa และนั่นเป็นจุดกำเนิดของ Mitsubishi

ที่มาของเครื่องหมายอันมีชื่อเสียง

ชื่อของบริษัทเปลี่ยนเป็น Mitsukawa Shokai ในปี 1872 และ Mitsubishi Shokai ในปี 1874 Yataro เลือกสัญลักษณ์ของบริษัทโดยผสมผสานใบโอ๊คสามใบจากตราประจำตระกูล Tosa และสามเพชรซ้อนกันซึ่งเป็นตราประจำตระกูลของเขาเอง สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นที่มาของชื่อ Mitsubishi ซึ่งหมายความว่า "สามเพชร"

ในปี 1874 Yataro แสดงความเสียสละต่อส่วนรวมและประเทศชาติ โดยการจัดสรรเรือเพื่อขนส่งกองทหารญี่ปุ่นไปยังไต้หวัน และรัฐบาลได้มอบเรือบรรทุกสินค้า 30 ลำ ให้กับเขาเพื่อเป็นการตอบแทน Yataro ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทของเขาเป็น Mitsubishi Mail Steamship ในปี 1875 โดยรับสืบทอดกิจการ พนักงานและสิ่งอำนวยความสะดวกจากบริการไปรษณีย์ที่รัฐบาลเลิกล้มไป

การเติบโตที่รวดเร็ว และอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน

Mitsubishi Mail Steamship เปิดบริการในครั้งแรกโดยให้บริการไปยังประเทศจีนและรัสเซีย และสามารถสร้างผลประโยชน์ได้อย่างมากจากการดำเนินธุรกิจในลักษณะผูกขาด อย่างไรก็ตาม สายลมแห่งการเมืองได้หวนกลับทิศมาเป็นปฏิปักษ์ต่อ Mitsubishi ในช่วงต้นทศวรรษ 1880 เมื่อรัฐบาลได้สนับสนุนการก่อตั้งบริษัทคู่แข่ง และการแข่งขันที่ตามมาส่งผลให้ทั้งสองบริษัทเกือบจะต้องล้มละลาย

จนกระทั่งรัฐบาลต้องยื่นมือเข้าแทรกแซงทำให้การแข่งขันยุติลงเป็นการชั่วคราว แต่การแข่งขันอย่าง เอาเป็นเอาตายกลับเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อสิ้นบุญของ Yataro ในปี 1885 และน้องชายของเขา Yanosuke ขึ้นกุมบังเหียรกิจการต่อจากพี่ชาย และการแข่งขันทั้งหมดก็ถึงจุดสิ้นสุดเมื่อรัฐบาลตัดสินให้บริษัททั้งสองแห่งควบรวมกิจการเข้าด้วยกันในปี 1885 ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของ Nippon Yusen หรือ NYK Line ในปัจจุบัน

เหนือกว่าเพียงการส่งสินค้า

ในขณะที่การแข่งขันทางทะเลมีความรุนแรงมากขึ้น Mitsubishi ก็หันมามองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ บนแผ่นดิน บริษัทฯ จึงได้จัดซื้อเหมืองทองแดงโยชิโอกะในอาคิตะ และเหมืองถ่านหินทาคาชิมาในนางาซากิ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เช่าอู่ต่อเรือนางาซากิจากรัฐบาลในปี 1884 และได้ออกแบบผลิตเรือกลไฟที่ประกอบขึ้นภายในประเทศญี่ปุ่นทั้งลำเป็นครั้งแรก

Mitsubishi เติบโตต่อเนื่องและมีความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้อำนาจการจัดการแบบ เบ็ดเสร็จของ Yanosuke Iwasaki เขาซื้อเหมืองเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานในการป้อนทรัพยากรให้กับอุตสาหกรรมของ Mitsubishi และญี่ปุ่นที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และตัดสินใจถอดคำว่า "Steamship" ออกจากชื่อบริษัท นอกจากนี้เขายังลงทุนด้วยเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อพื้นที่ที่เป็นบึงและหนองน้ำขนาด 80 เอเคอร์ ซึ่งอยู่ถัดจากปราสาทขององค์จักรพรรดิ ในปี 1890 การตัดสินใจ ลงทุนที่ฟังดูเหลวไหลในยุคของ Yanosuke กลับพิสูจน์ถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกล เมื่อผืนดินดังกล่าวได้รับ การประเมินว่ามีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบัน

การจัดการที่ทันสมัย
Hisaya ลูกชายของ Yataro ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาบริษัทฯ ในปี 1893 เขาสำเร็จการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (The University of Pennsylvania ) และได้ปรับโครงสร้างของ Mitsubishi เพื่อให้สามารถสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายและมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการก่อตั้งฝ่ายการธนาคาร, อสังหาริมทรัพย์, การตลาด และการบริหาร รวมทั้งฝ่ายกิจการเหมืองแร่และธุรกิจอู่ต่อเรือดั้งเดิม

การลงทุนส่วนตัวบางส่วนของ Hisaya ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Mitsubishi ในปัจจุบัน เขาได้ซื้อบริษัท Kobe Paper Mill ซึ่งได้กลายมาเป็น Mitsubishi Paper Mills ในปัจจุบัน และเขาได้สนับสนุนการก่อตั้งโรงเบียร์ Kirin Brewery นอกจากนี้ Toshiya ลูกพี่ลูกน้องของเขายังก่อตั้ง Asahi Glass ซึ่งประสบความสำเร็จในการผลิตกระจกแผ่นเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น

การจัดการ Mitsubishi มีความทันสมัยยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อ Koyata ลูกชายของ Yanosuke ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานบริษัทแทน Hisaya ในปี 1916 Koyata ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ทำการปรับปรุงฝ่ายต่างๆ ของบริษัทฯ ให้อยู่ในรูปแบบบริษัทที่มีความอิสระในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เขานำ Mitsubishi สู่ความเป็นผู้นำในหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และสารเคมี บริษัทต่างๆ ซึ่งในภายหลังกลายเป็น Mitsubishi Heavy Industries เป็นผู้พัฒนารถยนต์ เครื่องบิน รถถัง และ รถบัส และ Mitsubishi Electric ได้กลายเป็นผู้นำในด้านเครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน

เหนือกว่าครอบครัว

ตระกูล Iwasaki ยอมเสียสละการควบคุมบางส่วนใน Mitsubishi โดยการเสนอขายหุ้นในบริษัทผู้ถือหุ้นหลักต่อสาธารณะชน เมื่อสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ลงทุนจากภายนอกถือหุ้นของบริษัทฯ มากกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมสิทธิทั้งหมด

Koyata Iwasaki กระตุ้นผู้จัดการและพนักงานของเขาให้ก้าวข้ามความเกรงกลัวหรือหวาดระแวงต่อ ชาวต่างชาติที่แพร่ระบาดไปทั่วญี่ปุ่นในช่วงหลายปีของสงคราม "ชาวอังกฤษและชาวอเมริกันต่างก็เป็น คู่ค้าทางธุรกิจของเรา" เขากล่าวย้ำกับผู้บริหาร Mitsubishi ในเวลาไม่นานหลังที่เกิดความรู้สึกต่อต้านขึ้น "พวกเขาเป็นเพื่อนที่ร่วมพัฒนาโครงการต่างๆ มาด้วยกันกับเรา และต่างก็เป็นผู้ที่สนใจในเรื่องต่างๆ เหมือนกันกับเรา" เมื่อสันติสุขเกิดขึ้น พวกเขาก็จะกลับมาเป็นมิตรที่ดีและซื่อสัตย์อีกครั้ง"

วิถีทางที่แตกต่าง
ภายหลังสงคราม กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกร้องให้มีการยุบกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น สำนักงานใหญ่ของ Mitsubishi ปิดตัวลงในวันที่ 30 กันยายน 1946 และบริษัทในเครือ Mitsubishi จำนวนมากแตกตัวออกเป็นองค์กรขนาดเล็ก ส่วนที่ดำเนินธุรกิจการค้า (trading arm) แยกตัวออกเป็น บริษัทขนาดย่อย 139 แห่ง Mitsubishi Heavy Industries กลายเป็นบริษัทระดับภูมิภาคสามแห่ง บริษัท ส่วนใหญ่ในเครือของ Mitsubishi จำเป็นต้องเลิกใช้ชื่อและเครื่องหมายเดิม ภายใต้ความกดดันจาก กองกำลังสัมพันธมิตรที่ปกครองญี่ปุ่น

ในช่วงสงครามเกาหลี นโยบายการปกครองได้เปลี่ยนแปลงเป็นการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ บางส่วนของบริษัท Mitsubishi เดิมได้สร้างตัวขึ้นใหม่ และเริ่มนำชื่อและ เครื่องหมายกลับมาใช้อีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็ยังคงดำเนินกิจการอย่างอิสระ บริษัทเหล่านี้ต่างประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการอย่างเอกเทศและเป็นอิสระ เหนือกว่าที่อาจประสบผลสำเร็จภายใต้ การบริหารงานแบบองค์กรขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกัน พวกเขายังได้รับประโยชน์จากเครือข่ายการพึ่งพากันระหว่างอดีตบริษัทในเครือ Mitsubishi ที่มีประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมองค์กรร่วมกันมาก่อน