คพ.ย้ำหน้ากากใช้แล้วทุกชิ้นต้องลงเตาเผาขยะความร้อนสูง

11 เม.ย. 2563 | 07:22 น.

กรมควบคุมมลพิษชี้หน้ากากอนามัยใช้แล้วต้อง กำจัดโดยใช้เตาเผาขยะที่มีอุณหภูมิความร้อนตั้งแต่ 800-1,000 องศาเซลเซียล

 

 

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าปัจจุบันมีขยะอยู่ 3 ส่วนคือ 1.ขยะติดเชื้อ กระทรวงสาธารณะสุขดูแล 2.ขยะชุมชน กรมควบคุมมลพิษ จะให้คำแนะนำ ดูเรื่องการกำกับ และวางมาตรการแนวทางในการแก้ปัญหา  โดยท้องถิ่นจะเป็นผู้ปฎิบัติตามหลักของระทรวงมหาดไทย และ 3.ขยะอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแล

คพ.ย้ำหน้ากากใช้แล้วทุกชิ้นต้องลงเตาเผาขยะความร้อนสูง

ประลอง ดำรงค์ไทย

สำหรับหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ถือเป็นขยะติดเชื้อขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข  การกำจัดต้องโดยวิธีเผา ซึ่งปัจจุบันการใช้หน้ากากอนามัยมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากปริมาณการผลิตจากโรงงานราว1-2 ล้านชิ้นต่อวัน  ขณะที่การใช้หน้ากากก็ไม่แน่นอน เนื่องจากบางคนไม่ได้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง  และยังมีการนำเข้า และมีกลุ่มชุมชนที่ผลิตหน้ากากผ้าเอง

 

สำหรับข้อแนะนำของกรมควบคุมมลพิษสำหรับหน้ากากที่ใช้งานแล้ว ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมี 2ส่วนหลักคือ  1.หน้ากากอนามัยที่มาจากชุมชนบ้านเรือน เมื่อใช้งานแล้วจะต้องแยกถุง รัดปากถุงมิดชิดและเขียนที่หน้าถุงว่า หน้ากากอนามัย โดยกทม.จะรวบรวมนำไปกำจัดโดยวิธีเผา  ซึ่งใช้เตาเผาขยะที่มีอุณหภูมิความร้อนตั้งแต่ 800-1,000 องศาเซลเซียล ซึ่งปัจจุบันจะมีเตาเผากระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 20 แห่ง ซึ่งรวมของท้องถิ่นและของบริษัทเอกชนที่ให้บริการรับกำจัดขยะติดเชื้อด้วยแล้ว

 

2.หน้ากากอนามัยที่มาจากสถานที่ราชการ บริษัทห้างร้าน กรมควบคุมมลพิษจะแนะนำให้เตรียมถังขยะและมีถุงบรรจุอยู่ภายในที่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะรวบมัดได้

 

ปี2561 ในประเทศไทยมีขยะชุมชน จำนวน  27.8 ล้านตัน  ปี2562มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 28.7ล้านตันต่อปี และมีการแยกประเภทขยะออกเป็น 4 ชนิด คือ1.ขยะทั่วไป เช่นกระดาษ  2.ขยะสด 3.ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก 4.ขยะมีพิษ เช่น ขยะอิเล็กทรินิกส์ แบตเตอรี่