พิษ“โคโรนาเอฟเฟกต์”นายจ้างจ่อขึ้นเขียง

25 ก.พ. 2563 | 04:43 น.

สำรวจภาคการผลิตนายจ้างแห่กุมขมับ ไม่เกินเม.ย. สต๊อกวัตถุดิบขาดมือ เดินเครื่องจักรสดุด   เผย27%  ไทยนำเข้าวัตดิบจากจีนในลักษณะห่วงโซ่อุปทาน   เริ่มเจรจาเจ้าหนี้ยืด-ขยายเวลาชำระหนี้

 

นายธนิต  โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย  เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  ขณะนี้กลุ่มนายจ้าง  หรือผู้ประกอบการอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก  เนื่องจากเผชิญปัญหารุมเร้ามาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาค ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งยากขึ้น มาสู่สงครามการค้าจีน-อเมริกา  และต่อเนื่องมาถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา  เดิมที่ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นก็กระทบคำสั่งซื้ออยู่แล้ว  ตอนนี้ยิ่งขยายวงกระทบไปถึงภาคท่องเที่ยว และกำลังซื้อของประชากรในโลกลดลง เพราะที่ไม่กล้าออกมาจับจ่ายซื้อของ  โดยผลกระทบจากโคโรนามีแนวโน้มลากยาวถึงปลายปี2563

 

ล่าสุดสิ่งที่น่ากังวลในภาคการผลิตคือ ขณะนี้หลายรายเหลือวัตถุดิบสำหรับใช้ในการผลิต ไม่เกินเดือนเมษายนนี้  เพราะระยะหลังผู้ประกอบการไม่กล้าสต๊อกวัตถุดิบไว้นานหลายเดือนเพราะเป็นภาระต้นทุน ส่วนใหญ่จะสต๊อกไว้ 2 สัปดาห์ถึง1 เดือน  โดย 27%  ไทยนำเข้าวัตดิบจากจีนในลักษณะห่วงโซอุปทาน  เมื่อสต๊อกวัตถุดิบขาดมือ  การเดินเครื่องจักรก็สดุดลง     ทำให้เกิดปัญหาในการส่งมอบสินค้า    

 

“มองในแง่ผู้ประกอบการคำสั่งซื้อลดลงหรือหายไป  แต่ฟิกซ์คอสต์  เช่น การชำระหนี้ต่อเดือนต่อปี  ค่าเช่าอาคารสำนักงาน ค่าจ้างแรงงาน และพนักงานประจำออฟฟิตยังเป็นภาระ  แต่รายได้ลดลง   และถ้าผลกระทบลากยาว 6-7เดือน คนที่มีสายป่านยาวก็คงเจ็บตัวได้เหมือนกัน ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการสายป่านสั้นคงไม่ต้องพูดถึงจะมีทั้งปิดกิจการ   ลดการผลิต เลิกจ้างเกิดขึ้นต่อเนื่องแน่นอน  ซึ่งขณะนี้มีบางรายสั่งหยุดงานชั่วคราวและจ่ายเงินเดือนให้ 75% ของเงินเดือนปกติ  บางรายเปิดโครงการสมัครใจลาออก  บรรยากาศแบบนี้จะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าวิกฤติลากยาวต่อไป”

 

ล่าสุดเริ่มเห็นผู้ประกอบการบางรายเดินสายเจรจากับเจ้าหนี้(สถาบันการเงิน) เพราะธนาคารก็กลัวเกิดหนี้เสีย ขณะที่ผู้ประกอบการต้องการต่อรองยืดหนี้  ชะลอการส่งเงินต้น  หรือขอพักชำระหนี้เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้

นายธนิตกล่าวอีกว่า ผ่านมาเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจล้วนอยู่ในสภาพอ่อนแอ ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการจ้างงานสะท้อนจากรายงานเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปีที่แล้วขยายตัวได้เพียง1.6% เป็นระดับต่ำสุดในรอบห้าปีเศษ ทำให้ปีที่แล้วทั้งปีขยายตัวได้เพียง 2.4% จากเดิมคาดว่าจะโตได้ 2.7 – 3.7% เป็นการขยายตัวต่ำสุดนับจากปีพ.ศ.2557 มีการปรับเป้าประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีพ.ศ.2563 คาดว่าจะขยายตัวค่าเฉลี่ย 2.0%แต่โอกาสสูงที่จะขยายตัวได้เพียง 1.5 %

 

พิษโคโรนาเขย่าแรงงานเอาต์ซอร์ซระส่ำ
30%ถูกสั่งหยุดทำงานชั่วคราว