กฟผ.ชนพลังงาน ยื้อนําเข้าก๊าซLNG

08 ก.ย. 2562 | 09:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กฟผ.ชนกบง.ล้มประมูลนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน ร่อนหนังสือถึง “สนธิรัตน์” ชี้แจงช่วยประหยัดเงินค่าเชื้อเพลิงได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท ลดค่าไฟฟ้าได้ 2.7 สตางค์ต่อหน่วย ไร้ปัญหาภาระ Take or Pay ยันกระบวนการยังไม่ยุติ สนพ.ยันไม่จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซในปี 62-63

มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา มีมติให้ยกเลิกการประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี ที่บริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย เสนอมาในราคาตํ่าสุด จากจำนวนผู้ยื่นประมูล 12 ราย และมีแผนนำเข้าล็อตแรกในเดือนกันยายน 2562 นี้ ราว 2.8 แสนตัน และเพิ่มปริมาณการนำเข้าทุกปี ตลอดระยะเวลา 8 ปี คิดเป็นมูลค่าซื้อขายกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ทางกบง.เห็นว่า หากให้มีการนำเข้าดังกล่าวจะไปกระทบกับสัญญาการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่จะต้องลดลงจากที่ทำไว้ในสัญญา 5.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะก่อให้เกิดค่า Take or Pay เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน 2 สตางค์ต่อหน่วย

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า มติกบง.ที่ให้กฟผ.ยกเลิกการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี และเปลี่ยนมาเป็นทดลองนำเข้าจากตลาดจร หรือ spot ในปริมาณไม่เกิน 2 ลำเรือ รวมประมาณ 1.8 แสนตัน และให้กฟผ.ไปเจรจา และบริหารจัดการเรื่องสัญญาการใช้ LNG Terminal นั้น

 

กฟผ.แจงสนธิรัตน์

กฟผ.ได้ทำหนังสือชี้แจงถึง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับประเด็นเรื่องของ ภาระ Take or Pay ว่าจะไม่มีปัญหา เนื่องจากเงื่อนไขการประมูลที่ระบุไว้ในทีโออาร์ นั้นมีความยืดหยุ่น ทั้งเรื่องปริมาณแอลเอ็นจีที่ปรับลดลงได้ เหลือ 8 แสนตันต่อปี ถึง 1.5 ล้านตันต่อปี และระยะเวลาการนำเข้าที่อยู่ระหว่าง 4-8 ปี

 

ประหยัดเชื้อเพลิง3หมื่นล.

อีกทั้ง ยังระบุด้วยว่า ราคา แอลเอ็นจีที่ทางปิโตรนาส เสนอมานั้น เป็นราคาตํ่าที่สุดในบรรดาคู่แข่งอีก 11 ราย และยังเป็นราคาที่ตํ่ากว่าทุกสัญญา เมื่อเทียบกับ สัญญาระยะยาวของปตท.ที่จัดซื้ออยู่ 5.2 ล้านตันต่อปี ช่วยให้ กฟผ.ประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ถึงประมาณ 30,000 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้อีก 2.7 สตางค์ต่อหน่วย

“ก๊าซแอลเอ็นจีที่ ปิโตร นาส นำเข้ามานี้ ไม่ได้มีการบวกกำไร 5% ก่อนส่งเข้าโรงไฟฟ้า เหมือนกับเอกชนรายอื่น เมื่อนำไปผลิตไฟฟ้าแล้วทำให้มีผลตอบแทนหรือกำไรจากการจำหน่ายไฟฟ้าเพียง 5.6% ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ตํ่า”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เชื่อว่าการประชุม กพช.ช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ จะมีการทบทวนมติกบง. ที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนั้น จะกระทบต่อเครดิตเรตติ้ง ของ กฟผ. และความเชื่อมั่นของประเทศ ในสายตานักลงทุนต่างชาติ

 

ยอมรับนโยบายผิดพลาด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. (สร.กฟผ.) นำโดยนายศิริชัย ไม้งาม ประธาน และแกนนำรวม 5 คน ได้เข้าพบนายสนธิรัตน์ สินธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือและหารือถึงการคัดค้านมติกบง.ที่ยกเลิกการประมูลนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปี โดยนายสนธิรัตน์ ยอมรับว่าเป็นการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด มีความบกพร่องในเรื่องของราคาค่าไฟฟ้า สถานการณ์การใช้แอลเอ็นจี ภายในประเทศ และราคาแอลเอ็นจีจากการประมูล

อย่างไรก็ตาม ได้ขอให้กฟผ.คงการเป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจี ตามนโยบายที่จะเปิดเสรีนำเข้าต่อไปในอนาคต โดยมอบหมายให้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานติดตามเรื่องนี้ รวมถึงให้ไปนั่งเป็นกรรมการบอร์ด กฟผ. เพื่อดูแล กฟผ. ให้มีความมั่นคงและช่วยในการทำงานมากขึ้น

นายศิริชัย ไม้งาม ประธาน สร.กฟผ. กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ขอโทษกับการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด แต่ยังยืนยันที่จะยกเลิกการประมูลนำเข้าแอลเอ็นจี เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ ซึ่งสร.กฟผ.เป็นห่วงเรื่องความน่าเชื่อถือขององค์กรที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคตร่วมกับเอกชนหรือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รับปากจะหารือกับทางรัฐมนตรีพลังงาน ของมาเลเซีย และทางบริษัท ปิโตรนาสฯ รวมถึงสัญญาที่กฟผ.ได้เช่าท่อส่งก๊าซและคลังเก็บแอลเอ็นจีของปตท. ที่มีค่าเช่าเดือนละ 190 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 33 ปี ให้ เนื่องจากมีการเปลี่ยน แปลงทางนโยบาย

สำหรับเหตุผลที่กบง.ยกเลิกการประมูลนำเข้าแอลเอ็นจีครั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานหรือสนพ. ให้ความเห็นว่า จะมีผลกระทบจากภาระ Take or Pay ที่จะต้องไปลดปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีของปตท.ที่มีอยู่ในสัญญาลงมา ซึ่งพบว่า ในปี 2562-2563 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะอยู่ในสภาวะสมดุลกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติขั้นตํ่าที่มีอยู่ในสัญญาของปตท.ที่ 5.2 ล้านตันแล้ว ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีนี้ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจีแต่อย่างใด

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3503 วันที่ 8-11 กันยายน 2562

กฟผ.ชนพลังงาน  ยื้อนําเข้าก๊าซLNG