กฟผ. ผุดแผนอีวี รองรับใช้ไฟโต

04 เม.ย. 2562 | 09:25 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่


กฟผ. ตั้งคณะกรรมการฯ จัดทำแผนแม่บทยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งรับความต้องการใช้ไฟฟ้าตามแผนพีดีพีที่ตั้งเป้า 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 คาดแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. นี้

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กฟผ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทด้านการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการฯ เข้ามาศึกษา ให้แล้วเสร็จในเดือน เม.ย. นี้ และจะดำเนินการจัดทำแผนศึกษาให้แล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2562 เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ที่ตั้งเป้ารถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 และมีสถานีประจุรองรับกว่า 1 พันแห่ง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละปีเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ แผนแม่บทฯ จะพิจารณาถึงปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาในอนาคต เพื่อจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งมองว่า คงจะเข้ามาไม่เร็วนักในช่วง 4-5 ปี แต่ 10 ปี อาจเป็นไปได้ โดยจะต้องนำมาคำนวณแผนผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว

 

กฟผ. ผุดแผนอีวี รองรับใช้ไฟโต
⇲ วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย

 

สำหรับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนรถที่ใช้ในส่วนกลางของ กฟผ. ที่ปัจจุบันมีหลายพันคัน เพื่อจะทยอยปรับเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งในปีนี้จะนำรถนิมิบัสมาใช้ส่งพนักงานกลางของ กฟผ. 11 คัน รวมทั้งจะเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของ กฟผ. ที่วิจัยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. จำนวน 4 คัน เป็นรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ ด้วยการดัดแปลงเครื่องยนต์จากเชื้อเพลิงนํ้ามันให้กลายเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562

ขณะที่ การพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า กฟผ. อยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกพื้นที่จัดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าในสถานีไฟฟ้าย่อยของ กฟผ. ที่ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 230 แห่ง เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ จากปัจจุบัน กฟผ. เปิดสถานีประจุไฟฟ้าแล้ว 23 แห่ง ใน 8 พื้นที่ดังกล่าว แบ่งเป็น สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา จำนวน 11 สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว จำนวน 12 สถานี ซึ่งประชาชนที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าร่วมโครงการนำร่องใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. นี้


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,458 วันที่ 4-6 เมษายน 2562
 

กฟผ. ผุดแผนอีวี รองรับใช้ไฟโต