“พาณิชย์” เจาะลึกยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน

13 ก.ย. 2560 | 13:28 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“พาณิชย์” เจาะลึกยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน เตรียมผลักดันไทย ใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนในภูมิภาค เชื่อมโยงจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศได้จัดงานสัมมนาการค้าต่างประเทศ ซีรีส์ 3 “ล้วงลึกยุทธศาสตร์พญามังกรใหม่ ไทยได้อะไรจาก One Belt One Road” เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี แห่งการสถาปนากรมฯ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญตลาดจีนอย่าง นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานสภาธุรกิจไทย-จีน มาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจตลาดจีน ถึงที่มาที่ไปของนโยบายดังกล่าว และโอกาสที่ไทยจะได้รับจากนโยบายนี้ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญตลาดจีนท่านอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่ให้เกียรติมาให้ความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมงานที่สนใจมาเข้าร่วมงานกว่า 1,200 คน

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบาย One Belt One Road ของจีน กรมฯ มองว่า ไทยจะได้ประโยชน์ในการเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะไทยเป็นจุดศูนย์กลางของเส้นทางการค้า ทั้งทางบกและทางทะเล โดย “ทางทะเล” ไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์อยู่ระหว่าง 2 มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ “ทางบก” ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงจีนกับประเทศในอาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งทางถนนและรถไฟ

ปัจจุบัน จีนมีโครงการเชื่อมเส้นทางรถไฟจากเมืองคุนหมิง โดยมีปลายทาง คือ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้ผ่านประเทศไทยและมีโครงการที่จะเข้ามาลงทุนใน จ.เชียงราย ที่จะใช้เป็นจุดเชื่อมต่อ โดยรถไฟสายหนึ่งจะมาสู่แหลมฉบับและในอนาคตจะก่อสร้างจนถึงประเทศสิงคโปร์ และรถไฟความเร็วสูงยังจะเชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจของประเทศจีน คือ แนวมะละแหม่ง ที่เมืองดานัง ปรเทศเวียดนาม ซึ่งจะเชื่อมต่อผ่านเส้นทางถนนกับเมืองทวาย โดยไทยมีแผนรองรับเขตเศรษฐกิจที่สี่แยกอินโดจีน จ.พิษณุโลก เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งและโลจิสติกส์แล้ว

สำหรับนโยบาย One Belt One Road เป็นนโยบายที่ นายสี จิ้นผิง ผู้นำจีนคนปัจจุบัน ที่ได้ให้ความสำคัญและผลักดัน โดยเน้นการสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือกับนานาประเทศ ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งให้ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ครอบคลุมมิติทางวัฒนธรรมด้วย และยังได้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (AIIB) เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในด้านต่าง ๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน คมนาคม และการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น

 

e-book