ปลุกตลาด MICE Health & Tech Innovation โตแรง ดันเศรษฐกิจไทยฟื้น

04 พ.ค. 2567 | 09:23 น.

ชี้อุตสาหกรรม MICE ทรงพลัง จับตา 4 กลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นำโดย Health & Tech Innovation โตแรงทั่วโลก Food Security ความมั่นคงด้านอาหาร Creative Soft Power ความคิดสร้างสรรค์ด้านซอฟท์เพาเวอร์ และ Urban QOL & Mobility การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ไมซ์ (MICE) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์งานอีเวนท์ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมทั้งในระดับองค์กรภูมิภาค ไปจนถึงระดับนานาชาติ เป็นอีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรมของประเทศไทย ขณะที่อุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าจะเป็นอนาคตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ยังหนีไม่พ้นในเรื่องของ Health & Tech Innovation- Food Security- Soft Power  และ URBAN QOL & MOBILITY

นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในมิติด้าน HEALTH-TECH INNOVATION  เป็นการยกระดับธุรกิจสุขภาพด้วยนวัตกรรม ซึ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวและทำให้สุขภาพคนเราแข็งแรงขึ้นคือ Wellness ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพสมอง และเวลเนสเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วมากตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เติบโตเร่งยิ่งขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่หันมารักสุขภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกันประชากรผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไปก็กำลังเพิ่มขึ้น Aged Society จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนอยากอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยก็ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก และหลายคนอยากมีอายุยืนไปจนถึงจุดที่ไม่ป่วยเรียกว่า Healthspan ซึ่งอายุเฉลี่ยทั่วโลกคือ 63 ปี ก่อนเกิดโรคภัยไข้เจ็บและเสียชีวิตในวัย 73 ปี แต่ประเทศไทยอายุไขเฉลี่ย 77 ปี ส่วนช่วงอายุ Healthspan คือ 68 ปี โดยการพัฒนาเรื่องเวลเนสคือการพัฒนา Healthspan และ Lifespan ไปพร้อมกัน

จากสถิติคนไทยกลับมีผู้ป่วยด้วยโรค NCDs หรือ non-communicable diseases หรือที่เรามักเรียกว่า “โรคที่เราสร้างขึ้นมาเอง” เพราะกินไม่ดี นอนไม่ดี ออกกำลังไม่ดี มากถึง 77% (มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 74%) หรือประมาณ 3.8 แสนคน/ปี เสียชีวิต 44 คน/ชั่วโมง อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง ความดัน เบาหวาน ไขมัน มะเร็งโรคอ้วน และหากเป็นโควิด-19 แล้ว การเป็นโรคอ้วนจะมีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด ฉะนั้นเรื่องการกินและน้ำหนักจึงสำคัญ โดยคนไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมากถึง 48.3% เป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน

ปลุกตลาด MICE  Health & Tech Innovation โตแรง ดันเศรษฐกิจไทยฟื้น

สำหรับเรื่องธุรกิจเวลเนสทั่วโลกมีอยู่ 11 กลุ่ม คาดการณ์การเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ไปจนถึงปี 2570 อันดับ 1. Personal Care, Beauty 2. Healthy Eating Nutrition & Weight Loss และ 3. Wellness Tourism ทั่วโลก มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 8.6% ทุกปี โดยประเทศไทยก็เน้นย้ำและมีความโดดเด่นในเรื่องนี้ ตัวเลขนักท่องที่เดินทางเข้าประเทศไทยก่อนเกิดโควิด-19 มีจำนวน 40 ล้านคน เป็นกลุ่มเวลเนสทัวริซึม 12.5 ล้านคน และปัจจุบันเวลเนสก็ขยายตัวไปในทุกธุรกิจ ทำให้ธุรกิจเวลเนสของไทยอยู่ที่ 24 ของโลก อันดับ 9 ของเอเชียแปซิฟิก ถือว่ายังไม่กลับมาอยู่ในจุดเดิมจากที่เคยอยู่ในอันดับ 7 ของโลกในปี 2562

ปัจจุบันประเทศไทยสามารถต่อยอดธุรกิจเวลเนสไปได้ด้วยทรัพยากร 5 ด้าน ได้แก่ 1.สิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่สวยงาม 2.อาหารและพืชสมุนไพร 3.การบริการ 4. ความโดดเด่นด้านการนวดและสปา 5.การแพทย์ที่ติดอันดับโลก และเป็นผู้ท้าชิงอันดับต้น ๆ ในตลาดเวลเนสโลก เพราะชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการในประเทศไทยเฉลี่ยค่าใช้จ่าย 8 หมื่นบาท/คน มีมาตรฐานคุ้มค่ากับการใช้จ่าย ซึ่งประเทศไทยติดอันดับเรื่องเวลเนสหลายอย่างที่ใช้ดึงดูดในอุตสาหกรรมไมซ์ได้ ทั้งด้านการประชุมวิชาการ ประชุมการแพทย์ แต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ต้องร่วมมือกัน

ด้าน FOOD SECURITY: การพัฒนานวัตกรรม ที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร ถือเป็นอีกพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยนายรัชกฤต สงวนชีวิน Business Value Creation Division Manager บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ไทยมีแรงงานในภาคการเกษตรทั้งหมดในสัดส่วนมากถึง 30% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด กินพื้นที่เกือบครึ่งประเทศ แต่มีพื้นหลักส่งออกเป็นจำนวนมากจนติดอันดับโลก เช่น ข้าว น้ำตาล ฯลฯ แต่ผลผลิตบางอย่างยังน้อยและจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพและลดต้นทุน

“วันนี้สยามคูโบต้ามุ่งทำการเกษตร 2 รูปแบบ ได้แก่ Open Farm และ Indoor Farm นอกเหนือจากนี้ก็มีปลูกแบบ Plant Factory ที่สามารถควบคุมทุกอย่างได้และใช้เวลาระยะสั้น การใช้น้ำปลูกก็เป็นสิ่งสำคัญซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนจากให้น้ำบนดินที่ระเหยง่ายไปเป็นการให้น้ำใต้ดิน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำลงได้ถึง 30% นอกจากนี้ยังมีเทคโลโนยีการปลูกพืชลดโลกร้อนที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อให้เกิด FOOD SECURITY อย่างแท้จริง”

ขณะที่ นายธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมุมมองด้าน CREATIVE SOFT POWER ว่า ธุรกิจสร้างสรรค์ไทยมีศักยภาพและเป็นการผลักดัน Soft Power สู่เวทีโลก เพราะวันนี้ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่ดีหลายอย่างสำหรับสร้าง Soft Power และสร้างโปรดักส์ใหม่ ๆ รวมถึงร่วมมือผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไปสู้สายตาชาวโลกได้  หนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคือ การวางโรดแมปของเกาหลีนานนับ 10 ปี ตั้งแต่สมัยซีรีย์เรื่อง แดจังกึม ที่เขาตั้งใจส่งวัฒนธรรมขายผ่านภาพยนตร์ให้ต่างชาติเข้าใจ ต่อมาก็ขายอาหาร ขายกิมจิ ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามรอยซีรีย์ในเมืองต่าง ๆ โดยมีภาครัฐสนับสนุน โลเคชั่นถ่ายซีรีย์เกาหลีส่วนใหญ่จะไม่ซ้ำกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งสร้างอุตสาหกรรมไมซ์ได้มากขึ้น

เช่นเดียวกับ นางการดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย MQDC กล่าวว่า  สิ่งแรกที่ทำให้ทำให้ชาวต่างชาติอยากมาจัดงานประชุมสัมนาในประเทศไทย คือ 1.รู้สึกปลอดภัย เดินอยู่ในกรุงเทพฯ ได้โดยไม่มีความหวาดกลัว 2.ไม่รู้สึก แปลกแยก อยู่ได้ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ทุกวัฒนธรรม และมีความหลากหลาย 3.การเดินทางเข้ามาประเทศไทยไม่ยาก แต่การเดินทางเชื่อมต่อขนส่งมวลชนไปยังจุดต่างๆ ยังต้องปรับปรุงเพิ่มเติม นอกจากนี้ระบบการจ่ายเงินสำหรับซื้อสินค้าและบริการ อาจต้องปรับให้ครอบคลุมสำหรับชาวต่างชาติด้วย เช่น คิวอาร์โค้ท หากทำได้จะส่งผลดียิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) บ่งชี้ว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (URBAN QOL & MOBILITY)  เป็นสิ่งสำคัญ

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,988 วันที่ 2 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567