ก.เกษตรจับมือเอกชนยกระดับนาแปลงใหญ่สู่ยุค 4.0

26 เม.ย. 2560 | 08:01 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

26 เม.ย. 60 - นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยวัตถุประสงค์ในการจัดงานประชุมเพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาการตลาดสินค้าข้าวนาแปลงใหญ่   เพื่อให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานนาแปลงใหญ่ โดยเน้นการพัฒนาด้านการตลาดข้าว ให้มีการจัดทำแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการหารือถึงแผนการผลิตข้าวครบวงจรที่ได้ผ่านการพิจารณาโดย คณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560  ที่ผ่านมามีการคาดการณ์ปริมาณความต้องการข้าว เป้าหมาย 29.5 ล้านตัน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวจำนวน 66.69 ล้านไร่ เพื่อผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีการกำหนดพื้นที่การปลูกข้าวในระดับจังหวัด  และมีโครงการนาแปลงใหญ่ ซึ่งสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม เปลี่ยนวิธีการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าผลผลิต การบริหารจัดการ และการตลาด โดยในปี 2559 มีนาแปลงใหญ่รวมทั้งประเทศจำนวน 425 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 1.047 ล้านไร่ และในปี 2560 มีนาแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นจำนวน 750 แปลง พื้นที่ 744,000 ไร่

"ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับต้นทางถึงปลายทาง มีองค์ประกอบและบทบาทหน้าที่ ดังนี้ ต้นทาง ได้แก่ ชาวนา ต้องมีการรวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการผลิตข้าวคุณภาพทั้ง GAP และข้าวอินทรีย์ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการผลิต เช่น ผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าว ต้องมีการบริหารจัดการรถเกี่ยวร่วมกันอย่างเป็นระบบ ผู้ประกอบการปุ๋ยและการอารักขาพืช ให้คำแนะนำการใช้ที่ถูกต้องกับชาวนาและจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม กลางทาง ผ่านโครงการประชารัฐ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนมีบทบาทในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร"

นางสาวชุติมา กล่าวยกตัวอย่าง เช่น ภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวปลอดภัยมาตรฐาน GAP และข้าวอินทรีย์ ผลิตข้าวคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิต โดยการบริหารจัดการการผลิต ด้วยการใช้พันธุ์ดี ใช้เครื่องหยอดข้าวแทนการหว่าน ใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งการบริหารจัดการรถเกี่ยวให้เพียงพอและทันเวลา โดยเชื่อมโยงตลาดกับผู้ประกอบการโรงสีที่ได้มาตรฐาน GMP และผู้ส่งออก/ผู้ค้าปลีกข้าวคุณภาพ ให้มีข้อตกลงทางการตลาดล่วงหน้ากับเกษตรกรนาแปลงใหญ่ในประเด็นเรื่องพันธุ์ข้าว คุณภาพข้าว ปริมาณการผลิต และราคารับซื้อที่สูงกว่าข้าวคุณภาพทั่วไป

นอกจากนี้ การพัฒนานาแปลงใหญ่ให้ตอบรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ตั้งแต่ระดับการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เช่น การแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศในการนำโดรนเข้ามาช่วยในกระบวนการเพาะปลูก รวมถึงการเชื่อมโยงตลาดกับผู้ประกอบการที่ใช้ข้าวไปเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำมันสกัดจากข้าว โภชนเภสัช และเครื่องสำอางจากผู้ประกอบการภาคเอกชนหลายแห่ง เช่น บริษัท เมดิฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตอาหารเสริมและน้ำมันสกัดจากข้าว บริษัท สยามเนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอางในประเทศ เป็นต้น  นอกเหนือจากผู้ประกอบการที่ได้กล่าวไปข้างต้น ในเร็วๆนี้จะมีการเปิดตัวโครงการความร่วมมือกับภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอีก