ขจัดความกลัวออกค้นหาความงดงาม'นราธิวาส'

15 ม.ค. 2563 | 06:45 น.

จังหวัดนราธิวาส หนึ่งในจังหวัดชายแดนใต้สุดของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ห่างจากกรุงเทพมหานคร ทางรถยนต์ประมาณ 1,149 กิโลเมตร ดูว่าไกลพอสมควร แต่ก็ไม่ไกลที่จะไปเที่ยวกัน  หลายคนคงจะคุ้นเคยกับชื่อ “ตากใบ” ซึ่ง
ก็เป็นหนึ่งในอำเภอของจังหวัดนี้ ที่นี่แม้จะมีข่าวแรงๆ ร้ายๆ แต่ถ้าหากหักใจทำใจกล้าๆ อย่าไปคิดว่ามีอันตราย  ชวนกลุ่มก๊วนไปเยือนสักครั้งจะรู้เลยว่าเป็นเมืองสงบ มีความสวยงาม มีเสน่ห์อยู่ในตัว สถานที่ท่องเที่ยวสวยไม่แพ้ที่อื่นๆ ลองไปเที่ยวกันดูที่ขอแนะนำ อย่าง

ขจัดความกลัวออกค้นหาความงดงาม'นราธิวาส'

ทะเลหมอกสุคิริน  หรือทะเลหมอกบ้านภูเขาทอง เป็นที่ที่นักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมกับบรรยากาศทะเลหมอกปกคลุมขุนเขาแสนงดงาม ใครรักอิสระชอบนอนกลางป่าเขาที่นี่ก็เหมาะแก่การกางเต็นท์พักแรมรอชมพระอาทิตย์ตกในยามเย็นและรอรับไอหมอกในยามเช้า ที่นี่มีความเป็นธรรมชาติอุดมสมบูรณ์  นักท่องเที่ยวจะพบกับสิงสาราสัตว์นานาชนิด  จึงถูกจัดว่าสวยงามเป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัดนราธิวาสอีกด้วย   เดินชมป่าเขาก็จะพบต้นกะพงยักษ์ หรือ ต้นสมพง ขนาดเส้นรอบวงของลำต้น 25 เมตร สูงถึง 30 เมตร หากจะนำคนมาจับมือกันแล้วยืนล้อมลำต้นโดยรอบ ต้องใช้คนราว 27 คนโอบทีเดียว และยังพบกับพันธุ์ไม้แปลกๆ เถาวัลย์ยักษ์ และม่านไม้ที่ห้อยลงมาอย่างสวยงาม และยังมีนํ้าตกสุคิริน  เป็นนํ้าตกที่มีความสวยงาม ประกอบด้วยธารนํ้าตก 4 ชั้น ในแต่ละชั้นมีความสูงประมาณ 10 เมตร  ต้องลองเดินชมกัน

มาเดินเล่นตลาดตาบา ด่านตาบา หรือ ด่านตากใบ ตั้งอยู่บ้านตาบา ตำบลเจ๊ะเห เป็นช่องทางการท่องเที่ยวและค้าขายระหว่างไทย-มาเลเซีย ใครที่จะข้ามไปซื้อของที่ร้านค้าปลอดภาษี ด่านศุลกากรเพนกาลันกูโบ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย สามารถข้ามเช้าไป-เย็นกลับได้ ระหว่างเวลา 06.30-17.30 น. หากข้ามไปค้างคืนต้องขอใบผ่านแดนแบบ 1 ปี ติดต่อทำบัตรผ่านแดนที่สำนักงานอำเภอตากใบ ห่างจากด่านตากใบ 3 กิโลเมตร 

ขจัดความกลัวออกค้นหาความงดงาม'นราธิวาส'

มาแล้วต้องชม มัสยิด 300 ปี  หรือมัสยิดวาดีลฮูเซ็น หรือ  มัสยิดตะโละมาเนาะ ที่นายวันฮูเซ็น อัส-ซานาวีผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานี เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2167  เริ่มแรกสร้างหลังคามุงใบลาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ลักษณะของมัสยิดมีความแตกต่างจากมัสยิดทั่วไป คือเป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ลักษณะการสร้างจะใช้ไม้สลักแทนตะปู รูปทรงของอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีนและมลายู ส่วนเด่นสุดของอาคาร อยู่ที่เหนือหลังคาจะมีฐานมารองรับจั่วบนหลังคาอยู่ชั้นหนึ่ง ส่วนหออาซานมีลักษณะเป็นเก๋งจีน ตั้งอยู่บนหลังคา ส่วนหลัง  ฝาเรือนใช้ไม้ทั้งแผ่นแล้วเจาะหน้าต่าง ช่องลมแกะเป็นลวดลาย ใบไม้ ดอกไม้สลับลายจีน ด้านข้างมัสยิดมีสุสานชาวมุสลิม ถ้าเป็นของผู้ชายหินที่ประดับอยู่บนหลุมฝังศพจะมีลักษณะกลม ถ้าเป็นของผู้หญิงจะเป็นหินเพียงซีกเดียว ปัจจุบันมัสยิดแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานประกอบศาสนกิจ หากต้องการเข้าชมภายในต้องได้รับอนุญาตจากโต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้าน โดยทั่วไปเข้าชมได้บริเวณภายนอกเท่านั้น 

 

ชมวัดชลธาราสิงเห วัดแห่งนี้ได้อีกชื่อว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย” เพราะสมัยก่อนที่เมืองมาเลเซียจะเข้ามายึดดินแดน ประเทศไทยของเราได้อ้างว่ามีวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ เป็นหลักฐานว่าพื้นที่ส่วนนี้เป็นของชาวไทยมาก่อน จึงทำให้ดินแดนส่วนนี้ยังเป็นของชาวไทยอยู่นั่นเอง ถ้ามองจากศาลาด้านหนึ่งของวัดก็จะเห็นมาเลเซียอยู่อีกฟากหนึ่ง นั่งตากลมแนวตะเข็บชายแดนได้แบบชิลชิล เลย 

อีกสถานที่หนึ่ง นี่เลย “นํ้าตกปาโจ” ตั้งอยู่ในอำเภอบาเจาะ เป็นนํ้าตกขนาดใหญ่ของผืนป่าบูโดมีนํ้าตลอดปี แต่ในหน้าแล้งนํ้าค่อนข้างน้อย  ตัวนํ้าตกมี 4 ชั้น ชั้นแรกมีขนาดใหญ่และสวยที่สุด อุดมด้วยพันธุ์ไม้เขียวขจี ได้รับความนิยมและสวยงามที่สุด สายนํ้าไหลบ่าจากผาสูง บริเวณตัวนํ้าตกมีก้อนหินขนาดใหญ่จารึกลายพระหัตถ์พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และพระนามาภิไธยสิริกิติ์ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 เก็บเป็นที่ระลึกว่า ครั้งหนึ่งนั้นพระองค์เคยเสด็จมาเที่ยวนํ้าตกปาโจ

ขจัดความกลัวออกค้นหาความงดงาม'นราธิวาส'

สิ่งที่น่าสนใจของนํ้าตกแห่งนี้อีกอย่าง คือ ใบไม้สีทอง พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกที่นี่ เมื่อปี 2531 ใบไม้สีทองเป็นไม้เลื้อย มีลักษณะใบคล้ายใบชงโคหรือใบเสี้ยว ขนาดใหญ่กว่า บางใบใหญ่กว่าฝ่ามือ  มีขอบหยักเว้าเข้าทั้งที่โคนใบ และปลายใบ ลักษณะคล้ายวงรี 2 อันติดกัน ทุกส่วนของใบจะปกคลุมด้วยขนกำมะหยี่เนียนนุ่ม มีสีทองหรือสีทองแดงเหลือบรุ้งเป็นประกายงดงามยามต้องแสงอาทิตย์ สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล สามารถพบเห็นได้บริเวณด้านหน้าของนํ้าตก ใบไม้นี้ได้ถูกนำมาทำเป็นของฝากที่ดีที่สุดของจังหวัดนี้เช่นกัน

มีโอกาสลองวางแผนไปเที่ยว ไปให้กำลังใจคนชายแดนใต้กันสักครั้ง...

หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2563

ขจัดความกลัวออกค้นหาความงดงาม'นราธิวาส'