พระมหากษัตริยาธิราช

29 เม.ย. 2562 | 06:55 น.

สมัยสุโขทัยราษฎร์ต่างถวายพระนามของพระมหากษัตริย์ว่า “พ่อขุน” แสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่ทรงมีต่ออาณาประชาราษฎร์  ทรงปกครองโดยธรรมจึงทรงได้รับการขนานพระนาม มหาธรรมราชาธิราช สมัยอยุธยาแม้พระมหากษัตริย์จะทรงดำรงพระราชสถานะสมมติเทวราชตามแบบอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์  แต่ก็ทรงดำรงมั่นในหลักพระพุทธศาสนา ทรงปกครองด้วยหลักทศพิธราชธรรม ๑๐ จักรวรรดิวัตร ๑๒ และราชสังคหวัตถุ ๔

 

พระมหากษัตริยาธิราช

สมัยรัตนโกสินทร์พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการยกย่องในพระราชสถานะ อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ หมายถึงทวยราษฎร์ทั้งมวลร่วมกันอัญเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยสอดคล้องกับพระราชนิพนธ์ รามเกียรติ์ ร.๑ สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร พ.ศ. ๒๕๑๐ หน้า ๘๓๑ ใจความตอนหนึ่งว่า

   อัน พระนครทั้งหลาย   ก็เหมือนกับกายสังขาร

  กษัตริย์ คือจิตวิญญาณ   เป็นประธานแก่ร่างอินทรีย์

ซึ่งพระราชนิพนธ์ตอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมในสังคมไทยแต่อดีตจนปัจจุบันได้ว่า เหตุที่ไทยมีเอกราชและเอกลักษณ์ของตนมาช้านานนั้น เพราะเรามีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเป็นพื้นฐาน และเรามีวิญญาณแห่งความเป็นไทยกำกับ อันได้แก่  มีความเป็นอิสระแก่ใจและความเป็นไทแก่ตัว..มีพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องน้อมนำจิตใจให้เราทำความดี..และประการสุดท้าย คือมีจิตวิญญาณแห่งการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของมหาชน โดยมหาชนและเพื่อมหาช ซึ่งในยามศึกยอมเป็นจอมทัพต่อสู้อริราชศัตรู สร้างความสงบสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ยามสงบทรงเป็นผู้นำในการทำนุบำรุงพระศาสนา เศรษฐกิจ  ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ดังนั้นถือได้ว่า พระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจและพลังอันยิ่งใหญ่ของแผ่นดินไทย สืบเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

พระมหากษัตริยาธิราช

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรฯ  

เป็นพระแท่นหรือพระที่นั่งหรือพระราชอาสน์ ทำจากไม้อุทุมพร หรือ มะเดื่อ มีลักษณะเป็นทรงแปดเหลี่ยม สลักปิดทองประดับกระจก กางกั้นด้วยพระบวรเศวตฉัตรหรือพระสัปตปฎลเศวตฉัตรหรือฉัตรขาว ๗ ชั้น ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้านมุขตะวันออกในพระบรมมหาราชวัง สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นประทับรับน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระที่นั่งภัทรบิฐ 

ประดิษฐานอยู่เบื้องตะวันตกเฉียงเหนือ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ลักษณะเป็นเก้าอี้ถมทอง พนักและเท้าแขนต่อเนื่องกันเป็นกงแบบเก้าอี้จีน  สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เบื้องหลังปักนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์เมื่อทรงรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรฯแล้วเสด็จพระราชดำเนินประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงรับถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ เครื่องราชูปโภคและราชสมบัติ 

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน 

พระที่นั่งองค์นี้เป็นหมู่พระมหามณเฑียรตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน จากข้อมูลภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ขยายความถึงความหมายของนามพระที่นั่งองค์นี้หมายถึง วิมานที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นพระมหาจักรพรรดิราช ประกอบไปด้วยพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์กลาง และพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันตก

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียร จะเตรียมการจัดแต่งพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน โดยตั้งแต่งเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร ได้แก่ พระแส้หางช้างเผือก ศิลาบดโมรา พานพืชที่มีข้าวเปลือก ถั่ว งา เมล็ดพันธุ์ผักกาด เมล็ดฝ้าย พานฟัก กุญแจทอง จั่นหมากทอง วิฬาร์หรือแมว และไก่ขาว ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีความหมายอันเป็นสิริมงคลต่างๆ เช่น พันธุ์พืชต่างๆ มีความหมายถึงความเจริญงอกงาม ศิลาหมายถึงความหนักแน่น ฟักหมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุข เป็นต้น เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จฯ มายังพระราชมณเฑียรแล้ว พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายในจะทรงปูลาดพระที่และทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับแล้วจะได้เสด็จประทับเอนพระองค์เบื้องขวาลงบนพระแท่นบรรทม  ทรงรับการถวายพระพรแล้วทรงโปรยดอกพิกุลทองพิกุลเงินพระราชทาน จึงเสร็จการพระราชพิธี

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ 

ตั้งอยู่กลางระหว่างท้องพระโรงหน้าของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงยาว ยกพื้นสูง ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก-ตะวันตก เป็นสถานที่สำคัญในการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และการเชิญพระสุพรรณบัฏดวงพระราชสมภพและพระราชลัญจกรในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒

  อย่างไรก็ดีจากข้อมูลของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เผยว่า ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเหนือช่องพระบัญชรและช่องพระทวาร ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องพระอินทร์และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์   ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อประการหนึ่งที่ว่าพระมหากษัตริย์เปรียบประดุจดังองค์อมรินทร์  ผนังระหว่างช่องพระบัญชรเขียนภาพเทพเจ้าที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระแม่โพสพ พระพลเทพ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนคติความเชื่อเรื่องสมมติเทพและความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร 

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย 

ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นท้องพระโรงที่สำคัญของบ้านเมือง อาทิ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ตลอดจนเสด็จฯออกรับทูตต่างประเทศที่เข้ามาเจริญไมตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นท้องพระโรงโถง ยกพื้นสูง มีมุข ๒ ข้างทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกที่ปลายสุดของท้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมานเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร 

พระมหากษัตริยาธิราช

พระมหามณเฑียร หรือ หมู่พระมหามณเฑียร 

ประกอบด้วยพระที่นั่งที่เชื่อมต่อกันหลายองค์ ใช้เป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์  สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕  นับเป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่หมู่แรกที่สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวังและถือเป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์สำคัญยิ่ง 

หมู่พระมหามณเฑียรตั้งอยู่บริเวณย่านกลางของพระบรมมหาราชวัง  หันหน้าไปทางทิศเหนือ ตั้งอยู่ต่อเนื่องในเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน  มีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมไทยประเพณีโดยเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน  เครื่องหลังคาซ้อนชั้นตามคติความเชื่อเรื่องปราสาทหรือเรือนฐานันดรสูง ประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา  หางหงส์ นาคสะดุ้ง ที่เรียกเครื่องประดับกรอบหน้าบันนี้โดยรวมว่า เครื่องลำยอง หลังคาของหมู่พระมหามณเฑียรมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว ขอบสีส้มคาดสีเหลืองตามฐานานุศักดิ์แห่งสถาปัตยกรรมไทยประเพณี เป็นไปตามคติความเชื่อที่ว่าอาคารที่ประดับด้วยเครื่องหลังคามุงกระเบื้องเคลือบหลากสีและประดับเครื่องลำยอง ในลักษณะนี้เป็นเรือนฐานันดรสูงหรือปราสาทอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามพระที่นั่ง ๓ องค์ ซึ่งเป็นหลักของพระมหามณเฑียรไว้อย่างคล้องจองกัน ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน นามดังกล่าวแสดงออกถึงคติความเชื่อในราชสำนัก ตลอดจนหน้าที่การใช้งานและความสำคัญของพระที่นั่งแต่ละองค์ นอกจากนี้ ยังมีหอพระสุลาลัยพิมานซึ่งเป็นหอประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปสำคัญในราชสำนัก และหอพระธาตุมณเฑียร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์บางรัชกาล

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท 

มีลักษณะเป็นพระมหาปราสาทจตุรมุข  ตั้งอยู่เบื้องตะวันตกของพระราชฐานชั้นกลางในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒ ซึ่งในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จะเสด็จกราบถวายบังคมและสดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่พระที่นั่งนี้

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท 

สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีลักษณะเป็นพลับพลาโถงจตุรมุขเครื่องไม้  เรียกว่า พลับพลาสูง สร้างอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออก สำหรับประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่ในพระราชพิธีสรงสนานใหญ่ และทอดพระเนตรการฝึกช้าง ครั้นต่อมาเมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นปราสาท พระราชทานนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์  ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและทอดพระเนตรกระบวนแห่พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน ซึ่งเป็นพิธีสวนสนามแสดงความพรักพร้อมด้านกำลังคนและสรรพาวุธ เพื่อให้เป็นที่เกรงขามแก่ศัตรูหมู่ปัจจามิตร และเป็นสวัสดิมงคลแก่พระนคร ปัจจุบันพระที่นั่งองค์นี้เป็นที่เสด็จออกมหาสมาคมให้ประชาชนเฝ้าฯ ในโอกาสพิเศษต่างๆ รวมทั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒๕๖๒

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 

เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  ประดิษฐานภายในพระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานอยู่ตรงกลางระหว่าง พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘  ลักษณะของสถาปัตยกรรม เป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมกับสถาปัตยกรรมตะวันตก (ยุโรป) สมัยพระราชินีวิคตอเรีย โดยมีส่วนของอาคารแบบยุโรป และหลังคาแบบไทย ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒๕๖๒  นี้ เสด็จออกพระที่นั่งฯให้ทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

 

หน้า 21-23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,465 วันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562