โซเชียลฯเกาะกระแสโอลิมปิก สแน็ปแชตแข่งเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์

19 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
แอพพลิเคชัน สแน็ปแชต ก้าวขึ้นมาเป็นช่องทางการรับชมกีฬาโอลิมปิกที่สำคัญแข่งขันกับเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ หลังสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง ดังกล่าวเป็นช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มผู้ชมวัยหนุ่มสาว

เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า มีผู้ใช้งานแอพพลิเคชัน สแน็ปแชต (Snapchat) จำนวน 1 ใน 3 ที่ได้ใช้บริการรับชมคลิปการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกผ่านฟีเจอร์ที่ชื่อว่า ไลฟ์ สตอรีส์ แสดงให้เห็นว่าสแน็ปแชตมีโอกาสก้าวขึ้นมาแข่งขันกับโซเชียลมีเดียรายใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ได้ในฐานะสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้ถ่ายทอดสดอีเวนต์ต่างๆ
สแน็ปแชตจับมือกับสถานีโทรทัศน์ใน 7 ประเทศ รวมถึงในสหรัฐฯ อังกฤษ และบราซิล เพื่อเผยแพร่คลิปจากการแข่งขันและผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง โดยในช่วง 7 วันแรก มีผู้เข้าชมคอนเทนต์เกี่ยวกับโอลิมปิกผ่านสแน็ปแชต 49 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ใช้แอพพลิเคชันดังกล่าวทั้งหมด 150 ล้านคน

นอกจากนี้ สแน็ปแชตยังทำข้อตกลงกับสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีซี เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกในสหรัฐฯ และเว็บไซต์ข่าว บัซฟีด (BuzzFeed) จัดทำแชนแนลบนแพลตฟอร์ม ดิสคัฟเวอร์ ของสแน็ปแชต เพื่อเผยแพร่คลิปเบื้องหลังสั้นๆ จากโอลิมปิกแบบเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับสแน็ปแชตโดยเฉพาะ

เอ็นบีซีและสแน็ปแชตจะแบ่งปันรายได้จากโฆษณาบนเพจดิสคัฟเวอร์ โดยมีแบรนด์สินค้าจำนวน 7 แบรนด์ที่ตกลงเข้ามาใช้พื้นที่โฆษณา อาทิ วอลมาร์ต เชนค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลกที่นำโฆษณาประชาสัมพันธ์การขายสินค้าที่ผลิตในอเมริกามาเผยแพร่

สแน็ปแชตพยายามที่จะแข่งขันกับคู่แข่งโซเชียลมีเดียรายใหญ่ อย่างทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียในระหว่างไลฟ์อีเวนต์ โดยได้พยายามจับมือกับสื่อรูปแบบเดิมที่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของแอพพลิเคชันในการเป็นช่องทางเข้าถึงผู้ชมวัยหนุ่มสาว ข้อมูลจากนีลเซ็นระบุว่า ปัจจุบันสแน็ปแชตสามารถเข้าถึงชาวสหรัฐฯ ในกลุ่มอายุ 18-34 ปีได้ถึง 41%

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ได้พยายามสร้างกระแสจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยได้ร่วมมือกับเอ็นบีซีเพื่อจัดทำคลิปสรุปการแข่งขันในแต่ละวันความยาว 2 นาทีให้กับผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหรัฐฯ และจัดทำวีดีโอรูปแบบสโลว์โมชันสำหรับอินสตาแกรม

นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังพยายามกระตุ้นให้มีการใช้งานฟีเจอร์ใหม่อย่าง เฟซบุ๊กไลฟ์ ด้วยการสร้างเพจให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาวีดีโอจากนักกีฬา ไม่ว่าจะเป็นทีมชาติสหราชอาณาจักร บราซิล และญี่ปุ่น อีกทั้งเฟซบุ๊กยังจ่ายเงินให้นักกีฬาและบริษัทสื่อบางรายถ่ายทอดสอดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์

ด้านทวิตเตอร์ที่พยายามวางตำแหน่งของตนเองเป็นแพลตฟอร์มสำหรับข่าวและทำหน้าที่เป็นหน้าจอที่ 2 ให้ผู้ชมใช้งานระหว่างรับชมรายการโทรทัศน์ ได้จัดทำฟีเจอร์ "ทวิตเตอร์ โมเมนต์" (Twitter Moment) เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการติดตามการแข่งขันโอลิมปิกได้อย่างทันท่วงที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559