ธนาคารกลางจับตา‘Brexit’ พร้อมรับมือความผันผวนของตลาดหากอังกฤษโหวตออก

22 มิ.ย. 2559 | 12:00 น.
ธนาคารกลางขนาดใหญ่ทั่วโลกเตรียมพร้อมรับมือผลโหวตประชามติของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ด้านธนาคารกลางอังกฤษย้ำการออกจากอียูจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ผลโพลล์ล่าสุดยังชี้ว่าฝ่ายโหวตออกมีคะแนนนำ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้นำธนาคารกลางขนาดใหญ่ของโลกหลายราย ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์ ต่างกล่าวถึงการทำประชามติของสหราชอาณาจักรในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก โดยธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (เอสเอ็นบี) กล่าวผ่านแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายว่า "ยังคงมีความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การทำประชามติของสหราชอาณาจักรว่าจะอยู่ในสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่อาจเป็นเหตุให้ความไม่แน่นอนและความผันผวนเพิ่มมากขึ้น"

นายโธมัส จอร์แดน ประธานเอสเอ็นบี กล่าวว่า การลงมติออกจากอียูจะไม่เป็นผลดีกับสวิตเซอร์แลนด์ และทางธนาคารพร้อมที่จะดำเนินมาตรการที่จำเป็นถ้าผลการลงมติออกมาในลักษณะดังกล่าว โดยทางธนาคารอาจลดดอกเบี้ยลงให้ติดลบมากกว่าเดิม หรือเข้าไปแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา

ด้านนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า บีโอเจมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างใกล้ชิดกับธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางอื่นๆ โดยบีโอเจมีความพร้อมที่จะรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น "เราต้องการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทางการทั้งในและต่างประเทศ และติดตามอย่างระมัดระวังว่าการลงมติจะกระทบกับตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก รวมถึงญี่ปุ่นอย่างไร"

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดจากอิปซอส มอรี ซึ่งเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (16 มิ.ย.) แสดงให้เห็นว่าฝ่ายสนับสนุนการออกจากอียูมีคะแนนนำที่ 53% ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการเป็นสมาชิกมีคะแนน 47% สอดคล้องกับผลสำรวจหลายสำนักที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้

ด้วยแนวโน้มของฝ่ายสนับสนุนการออกจากอียูมีคะแนนนำ ทำให้นักลงทุนต่างจับตามองว่าธนาคารกลางผู้ดูแลนโยบายการเงิน ทั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) รวมถึงบีโอเจ จะควบคุมความตื่นตระหนกของตลาดได้อย่างไรในกรณีที่อังกฤษตัดสินใจออกจากอียู ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทางการได้เน้นย้ำว่ามีเครื่องมือรักษาสภาพคล่องในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินโลกที่ยังสามารถนำมาใช้ได้ และธนาคารกลางในประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์และเดนมาร์กกล่าวว่า มีความพร้อมที่จะเข้าไปรักษาเสถียรภาพของค่าเงินของตนเอง

ก่อนหน้านี้สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างคำกล่าวของแหล่งข่าวว่า อีซีบีเตรียมแถลงการณ์สำหรับประกาศออกมาในวันที่ 24 มิถุนายน หากผลในช่วงเช้าแสดงให้เห็นว่าชาวอังกฤษเลือกที่จะออกจากอียู โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั่วยุโรปและควบคุมความตื่นตระหนกของตลาด ด้วยออกมาตรการเพื่อรักษาสภาพคล่องให้ได้อย่างเพียงพอ

ฝ่ายสนับสนุนการออกจากอียูระบุว่า ขั้นตอนของการเปลี่ยนผ่านจะเป็นไปอย่างราบรื่น ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนให้อยู่ต่อต่างออกมากล่าวเตือนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ได้ย้ำถึงความกังวลผ่านแถลงการณ์หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายประจำเดือนมิถุนายนว่า ผลการลงประชามติยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อตลาดการเงินของอังกฤษและรวมถึงเศรษฐกิจโลก

บีโออีตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% เช่นเดิมในการประชุมสัปดาห์นี้ เช่นเดียวกับธนาคารกลางอื่นๆ ที่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายใดๆ ก่อนการทำประชามติ อย่างไรก็ดี ด้วยความเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มมองว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่บีโออีจะปรับลดดอกเบี้ยลงในเร็วๆ นี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559