โควิด-19 ซ้ำเติม"อัตราการเกิด" ในสหรัฐดิ่งต่ำสุดในรอบกว่า 40 ปี

08 พ.ค. 2564 | 03:11 น.
อัพเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2564 | 10:30 น.

โควิด-19 ซ้ำเติม "อัตราการเกิด" ในสหรัฐ ล่าสุดตัวเลขปี 63 ลดลงถึงร้อยละ 4 ลดลงรายปีครั้งใหญ่สุดในรอบกว่า 4 ทศวรรษ

 

หนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน โพสต์ รายงานว่าอัตราการเกิดในสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4 ในปี 2563 ซึ่งนับเป็นการลดลงรายปีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ หลายทศวรรษ บ่งชี้ว่า "การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ไหม่ (โควิด-19) ส่งผลให้การเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลงอยู่แล้วลดลงอีก

โดยข้อมูลเบื้องต้นล่าสุดที่เผยแพร่โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ชี้ว่าอัตราการเกิดในปี 2563 ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 6 โดยดิ่งต่ำสุดในช่วงท้ายปี ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกกลุ่มแรกที่คุณแม่ตั้งครรภ์ระหว่างเกิดโรคระบาดในสหรัฐฯ จะทยอยลืมตาดูโลก

รายงานระบุว่าผู้หญิงอเมริกันมีลูกน้อยลงอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ โดยพวกเธออาจจะมีลูกในภายหลังหรือเลือกจะไม่มีเลย ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเริ่มทวีตัวยิ่งขึ้นจนส่งผลให้อัตราการเกิดลดลงในทุกเชื้อชาติกลุ่มชาติพันธุ์ และเกือบทุกกลุ่มอายุของประเทศ

ฟิลิป เอ็น โคเฮน นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ เผยว่าปี 2563 มีทารกถือกำเนิดในสหรัฐฯ ราว 3.6 ล้านคน ลดลงจากราว 3.75 ล้านคน ในปี 2562 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2522 ทั้งยังเป็นตัวเลขการเกิดที่ลดลงมากที่สุดในรอบหนึ่งปีนับตั้งแต่ปี 2508 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ยุคเบบี้บูม (baby boom) สิ้นสุดลงหากคิดเป็นเปอร์เซนต์

"แม้การระบาดใหญ่จะเร่งให้เกิดการลดลงเร็วขึ้น แต่มันไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากการชะลอตัวเกิดขึ้นต่อ เนื่องมาหลายทศวรรษก่อนจะเกิดโรคระบาดแล้ว" รายงานระบุ โดยอัตราการเกิดก่อนโรคโควิด-19 อุบัติขึ้นลดลงเหลืออยู่ที่ทารก 1.73 คนต่อผู้หญิง 1 คน หลังเคยพุ่งแตtสูงสุดที่ทารก 3.77 คนต่อผู้หญิง 1 คนในปี พ.ศ. 2500 และลดลงในปี 2523 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในทศวรรษต่อมา และดิ่งลงอย่างต่อเนื่องนับแต่นั้นมา"

สาเหตุบางส่วนที่อาจเร่งการลดลงในระยะยาว อาทิ ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ค่าที่อยู่อาศัย ค่าดูแลเด็กและการศึกษา ตลอดจนนโยบายครอบครัว-การทำงานที่เละเทะของสหรัฐฯอาจกระตุ้นให้แนว โน้มเลวร้ายลงในปี 2563" โคเฮนกล่าว

คณะผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโรคระบาดใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงสังคมอเมริกันในหลายๆ ด้าน ทำให้แผนการมีลูกของบางคนหยุดชะงัก เนื่องด้วยความคิดที่ว่าลูกๆ ของตนอาจต้องเผชิญกับปัญหาตกงาน ศูนย์ดูแลเด็กและโรงเรียนปิดให้บริการ และปัญหาความโดดเดี่ยวทางสังคม

"นอกจากนี้การระบาดใหญ่ยังชะลอการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม นั่นหมายถึงมีเพศสัมพันธ์น้อยลง เช่นเดียวกับการมีแฟน การแต่งงาน และการตั้งครรภ์" โคเฮนกล่าว "ผมมั่นใจว่ามันมีทั้งองค์ประกอบที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว และเรายังไม่มีข้อมูลเพียงพอจะทราบแน่ชัดว่าความสมดุลระหว่างนั้นคืออะไร"

ที่มา :  สำนักข่าวซินหัวไทย