อังกฤษประเดิมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของ “แอสตร้าเซนเนก้า” ให้ประชาชนเป็นประเทศแรกในโลก

04 ม.ค. 2564 | 17:10 น.

อังกฤษเริ่มฉีด“วัคซีน AZD1222” ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่ร่วมวิจัยและพัฒนากับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ให้ประชาชนเป็นชาติแรกของโลกแล้วเมื่อวานนี้ (4 ม.ค. เวลาท้องถิ่น) โดยคุณปู่ไบรอัน วิลเลียม พิงเคอร์ วัย 82 ปีเป็นชาวอังกฤษคนแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว

 

“นี่คือจุดพลิกผันที่แท้จริง” นายแมท แฮนค็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษกล่าว วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด เป็นวัคซีนต้านโควิด-19 ราคาถูกที่สุดในขณะนี้ และจะมีการผลิตในต่างประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย เพื่อการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง

 

หน่วยงานกำกับดูแลอาหารและยาของอังกฤษอนุมัติการใช้วัคซีนดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในช่วงไม่กี่วันแรกจะมีการแจกจ่ายวัคซีนจำนวนไม่มาก คือราว ๆ 530,000 โดสให้แก่ 6 โรงพยาบาลของอังกฤษเพื่อนำไปฉีดและเก็บข้อมูล จากนั้นภายในสัปดาห์เดียวกันนี้จะทยอยส่งมอบจำนวนมากขึ้น และตั้งเป้าจะส่งมอบวัคซีนหลายสิบล้านโดสภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า “นี่คือโครงการฉีดวัคซีนสร้างภูมิต้านทานโรคครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ” หน่วยงานบริการสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ NHS ของอังกฤษซึ่งเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่หลายหมื่นคนได้รับการฝึกอบรมเพื่อการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ระบุ

 

อังกฤษประเดิมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของ “แอสตร้าเซนเนก้า” ให้ประชาชนเป็นประเทศแรกในโลก

อังกฤษประเดิมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของ “แอสตร้าเซนเนก้า” ให้ประชาชนเป็นประเทศแรกในโลก

ทั้งนี้ วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มีจุดเด่นที่เป็นข้อดีคือการขนส่งลำเลียงไม่ยุ่งยากเนื่องจากสามารถจัดเก็บได้ในตู้เย็นปกติ ขณะที่วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ที่ร่วมพัฒนากับบริษัทบิออนเทคและได้รับการอนุมัติใช้ในอังกฤษเป็นรายแรกเมื่อต้นเดือนธ.ค. จำเป็นต้องจัดเก็บในตู้แช่อุณหภูมิต่ำมากที่ -70 องศาเซลเซียสซึ่งทำให้ต้องมีอุปกรณ์และรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม  


อังกฤษประเดิมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของ “แอสตร้าเซนเนก้า” ให้ประชาชนเป็นประเทศแรกในโลก

การฉีดวัคซีนสร้างภูมิต้านทานไวรัสแก่ร่างกายจะทำให้ประชาชนสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้ในที่สุด รัฐมนตรีสาธารณสุขของอังกฤษย้ำว่า การฉีดวัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อวานนี้ (4 ม.ค.) คือชัยชนะของวงการวิทยาศาสตร์อังกฤษ และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อังกฤษต้องเผชิญกับการติดเชื้อที่ยังคงพุ่งสูงขึ้น โดยข้อมูลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 ม.ค.) ชี้ว่า ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของอังกฤษเพิ่มขึ้นเกิน 50,000 รายต่อวันติดต่อกันมาเป็นเวลา 6 วันแล้ว “มันเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากมาก ๆ เมื่อมองในแง่การแพร่เชื้อของไวรัส แต่เช้านี้เราก็มีข่าวดีในเรื่องวัคซีน นี่คือจุดพลิกผันที่แท้จริงที่มาพร้อมกับวัคซีนที่ส่งมาถึงโรงพยาบาลต่าง ๆแล้ว” นายแฮนค็อกกล่าว

 

รัฐบาลอังกฤษตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนโดสแรกให้กับประชาชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า หรือของไฟเซอร์-บิออนเทค โดยประชาชนแต่ละคนจะได้รับการฉีดวัคซีน 2 โดส และการฉีดโดสแรกได้เริ่มขึ้นแล้ว จากนั้นจะทิ้งช่วงห่างกัน 12 สัปดาห์ก่อนการฉีดวัคซีนโดสที่สอง การทิ้งช่วงห่างกันมากขึ้นระหว่างวัคซีนโดสแรกและโดสที่สอง หมายความว่าจะมีคนจำนวนมากขึ้นที่ได้รับวัคซีนโดสแรก โดยที่ไม่มีปัญหาในเรื่องซัพพลายตึงตัวมากนัก

 

ทั้งนี้ แอสตร้าเซนเนก้าประกาศว่าจะจัดสรรวัคซีนหลายร้อยล้านโดสให้แก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางโดยไม่หวังเอากำไรด้วย