หวั่นประเทศยากจนหมดสิทธิซื้อวัคซีนโควิด เหตุชาติร่ำรวยกักตุนมากเกินพอ

10 ธ.ค. 2563 | 00:13 น.

เป็นที่คาดหมายว่า ในปีหน้า (2564) วัคซีนต้านโควิด-19 จะตกถึงมือประชาชนในประเทศยากจนเพียง 10 % เท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะถูกกักเก็บไว้กับประเทศที่ร่ำรวย

 

กลุ่มพันธมิตรวัคซีนเพื่อประชาชน หรือ PVA (People’s Vaccine Alliance) ออกแถลงการณ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา เตือนว่า ประชาชนในประเทศยากจนมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับ วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเป็นเวลานานหลายปี เนื่องจากกลุ่มประเทศร่ำรวยได้พา กันกักตุนวัคซีน ดังกล่าวมากเกินความจำเป็น

 

ทั้งนี้ PVA ซึ่งเป็นการรวมตัวของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) โกลบอล จัสติส นาว (Global Justice Now) และอ็อกซ์แฟม (OXFAM) ระบุว่า กลุ่มประเทศร่ำรวยได้พากันซื้อวัคซีนที่เพียงพอสำหรับการฉีดให้ประชากรของตนเองเกือบ 3 เท่าภายในสิ้นปี 2564

 

ข้อมูลของ PVA เปิดเผยว่า “แคนาดา” เป็นประเทศที่มีการกักตุนวัคซีนมากที่สุดในโลก โดยมีเพียงพอสำหรับการฉีดให้ประชากรทุกคนมากกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ต่ำเกือบ 70 ประเทศที่สามารถให้การฉีดวัคซีนแก่ประชากรได้เพียง 1 ใน 10 ของประชากรทั้งหมดในปีหน้า

 

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า แคนาดากำลังเจรจากับรัฐบาลบางประเทศเกี่ยวกับแผนการบริจาควัคซีนบางส่วนให้แก่กลุ่มประเทศยากจน

 

PVA เปิดเผยว่า ขณะนี้ วัคซีนจำนวน 96% ของไฟเซอร์-ไบออนเทค และวัคซีนทั้งหมด 100% ของโมเดอร์นาได้ถูกประเทศร่ำรวยจับจองแล้ว ขณะที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ให้คำมั่นว่าจะจัดสรรวัคซีนจำนวน 64% ให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

WHO คาดวัคซีนโควิด-19 ต้องรอถึงกลางปีหน้า

จีนเข้าร่วมโครงการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม

ทุ่ม400ล้าน เร่งผลิต "วัคซีนโควิด"

หวั่นประเทศยากจนหมดสิทธิซื้อวัคซีนโควิด เหตุชาติร่ำรวยกักตุนมากเกินพอ

การร่วมกลุ่มของ PVA มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้ประเทศรายได้ต่ำทั่วโลก สามารถเข้าถึงวัคซีนคุณภาพดี มีประสิทธิภาพ ได้อย่างเท่าเทียมและในราคาต่ำ  แต่รายงานของทางกลุ่มก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจน ทั้งยังสะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่ว่าแม้จะมีการพัฒนาและอนุมัติใช้วัคซีนออกมาแล้ว แต่หลายประเทศในโลกจะยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไปอีกระยะหนึ่งในอนาคตเนื่องจากมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนได้น้อยกว่า ขณะที่ประเทศร่ำรวยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้แล้ว  

รายงานของ PVA คาดการณ์ว่า จะมีประมาณ 67 ประเทศรายได้ต่ำ (รวมถึงประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ) ของโลก อาทิ มองโกเลีย โมแซมบิก ฯลฯ ที่ในปีหน้า (2564) ประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เพียง 10 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น โดยประเทศเหล่านี้จะมีช่องทางเข้าถึงวัคซีนอย่างจำกัด สามารถได้รับวัคซีนผ่านทางโครงการ COVAX (COVID-19 Vaccine Global Access Facility) ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เท่านั้น

 

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศยากจนและประเทศรายได้ปานกลางสามารถเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง แต่ PVA ระบุว่าปัจจุบันโครงการ COVAX มีวัคซีนต้านโควิด-19 อยู่ราว ๆ 700 ล้านโดสเท่านั้น โดยจะได้มาจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนชั้นนำที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรของประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก COVAX จำนวน 92 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศรายได้ปานกลางอย่างเวียดนามและบราซิล นั่นหมายความว่า 700 ล้านโดส จะต้องจัดสรรปันส่วนให้กับประชากรถึง 3,600 ล้านคน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า อย่างไรปริมาณวัคซีนก็ไม่เพียงพอ ประเทศสมาชิก COVAX หลายรายจึงต้องเจรจาจองซื้อวัคซีนเพิ่มเติมจากบริษัทผู้ผลิตเท่าที่จะสามารถจัดหาได้

 

รายงานของ PVA ระบุว่า ปัจจัยหลักที่จะทำให้วัคซีนมีไม่เพียงพอที่จะแจกจ่ายอย่างทั่วถึง คือ การกักตุน โดยประเทศที่ร่ำรวย และกำลังการผลิตที่จำกัด เนื่องจากเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา

 

“ประเทศร่ำรวยมีปริมาณวัคซีนเพียงพอสำหรับฉีดให้กับประชาชนคนละ 2 โดสได้เกือบ ๆ 3 รอบ ขณะที่ประเทศยากจน ยากจะเข้าถึงวัคซีนและมีไม่เพียงพอที่จะฉีดให้แม้กระทั่งบุคลากรการแพทย์รวมถึงบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด” นายแพทย์ โมกา คามาล-ยันนี ผู้บริหารของ PVA ให้ความเห็น พร้อมระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศร่ำรวยมีวัคซีนในครอบครองมากเกินจำเป็น เนื่องจากในช่วงต้น ๆของการพัฒนาวัคซีน ประเทศเหล่านี้ได้จองซื้อวัคซีนไว้กับบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนหลายรายที่มีแนวโน้มว่าจะวิจัยได้สำเร็จ และเมื่อต่อมาหลายโครงการวิจัยประสบความสำเร็จ ปริมาณที่จองซื้อไว้จากหลากหลายโครงการวิจัยจึงมีมากเกินความจำเป็นสำหรับบางประเทศ

 

PVA มองว่าการจะให้ประเทศที่ร่ำรวย จัดสรรปันส่วนวัคซีนส่วนเกินออกมาให้ประเทศอื่น ๆบ้างนั้นอาจจะเป็นเรื่องซับซ้อนยุ่งยาก เพราะมีหลากหลายปัจจัยองค์ประกอบ รวมทั้งประเด็นการเมืองภายในประเทศและด้านโลจิสติกส์  ดังนั้น ทางออกที่ดีกว่าน่าจะเป็นการทำอย่างไร ให้มีการผลิตวัคซีนออกมาได้มากขึ้นโดยเป็นการผลิตเพื่อมวลชน ในราคาต้นทุนผลิตที่ถูกลงมา  โดยบริษัทผู้ผลิตเป็นบริษัทยาที่มีศักยภาพกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆทั่วโลก ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อบริษัทผู้วิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ยอมแบ่งปัน-ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจจะทำได้ผ่านทางองค์การอนามัยโลก

  

บางประเทศเช่น อินเดีย และแอฟริกาใต้ เดินหน้าไปอีกขั้นด้วยการยื่นหนังสือเรียกร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ยกเว้นวัคซีนต้านโควิด-19 ออกจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป้าหมายก็เพื่อให้บริษัทยาจำนวนมากขึ้น สามารถผลิตวัคซีนต้านไวรัสดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกปัญหาปริมาณการผลิตและการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม