ผ่ามาตรการประเทศต่างๆทั่วโลก เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

02 พ.ย. 2563 | 03:32 น.

โควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั่วโลกอ่วมสุดเป็นประวัติการ ครึ่งแรกปี2563 จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกหายไปแล้วกว่า 439 ล้านคน ส่งผลให้ประเทศต่างๆทั่วโลก มองแนวทางลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ด้วยการทยอยออกมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยว ควบคู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้น

การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความสูญเสียให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยองค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) เผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกหายไปแล้วกว่า 439 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อคิดเป็นมูลค่า การท่องเที่ยวทั่วโลก สูญเสียรายได้ไปแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกมีจำนวนเพียง 233 ล้านคน ลดลง 65% โดยเฉพาะในเดือนเมย.-มิ.ย.63 ที่มีการปิดน่านฟ้าและปิดพรมแดนในหลายประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเหลือ 18 ล้านคน ลดลงกว่า 95%

++ยุโรปผ่อนคลายข้อจำกัดมากสุด

แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะเห็นว่าประเทศต่างๆทยอยออกมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยยุโรป เป็นมีการผ่อนคลายการเดินทางมากที่สุด เป็นทวีปแรก เริ่มจากการยกเลิกมาตรกักตัว 14  วันของหลายประเทศ เช่น อิตาลี การเปิดพรมแดนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศในยุโรป อีกทั้งหลายประเทศในยุโรป ก็ทยอยอนุมัติให้คนจากประเทศที่มีความเสี่ยงโควิด-19 ต่ำ ให้เดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว อาทิ เยอรมนี ก็เปิดให้คนไทยเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว

ประเทศสเปน เปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยวต่างชาตินอกประเทศ EU เดินทางเข้าได้ ส่วนฝรั่งเศส อนุญาตให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศนอก EU ที่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้แล้ว สามารถเดินทางเข้าฝรั่งเศสได้ แต่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงเเละสถานการณ์ด้านสาธารณสุขในแต่ละประเทศ ฟินแลนด์ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวยุโรป เช่น เยอรมนี อิตาลี ยกเว้น สวีเดน เดินทางเข้าได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน

++จับตายุโรปเริ่มกลับมาล็อกดาวน์

แต่ล่าสุดนับจากสิ้นเดือนตุลาคม2563 เป็นต้นมา ก็มีหลายประเทศในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ออกมาทยอยประกาศล็อกดาวน์ระลอก2  ต่อเนื่องไปถึงธันวาคม 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาการน่าเป็นห่วง เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

 โดยฝรั่งเศสประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ประเทศเป็นครั้งที่ 2 โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่30 ตุลาคม) ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นอย่างน้อย เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ระลอก 2 ทั้งนี้ประชาชนฝรั่งเศสจะได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านเพื่อไปทำงานที่มีความจำเป็นและเหตุผลทางการแพทย์เท่านั้น สำหรับธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็น เช่น ร้านอาหารและบาร์ จะถูกปิด แต่โรงเรียนและโรงงานต่างๆ ยังเปิดได้
 

ขณะที่เยอรมนีจะใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วนตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 เป็นเวลา 4 สัปดาห์ หลังจากพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่กำหนดให้ธุรกิจสถานบันเทิงและการผ่อนคลายส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงบาร์ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โรงละคร และสถานที่จัดคอนเสิร์ต ปิดทำการจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563
 
ส่วนอังกฤษ ประกาศมาตรการเข้มสกัดการแพร่ระบาดอีกครั้งของโควิด-19 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน-  2 ธันวาคม2563 โดยธุรกิจค้าปลีกรวมไปถึงธุรกิจบริการที่ไม่จำเป็นจะถูกสั่งปิดทั้งหมด แต่โรงเรียนและสถานศึกษา ยังสามารถเปิดได้

การกลับมาล็อกดาวน์ระลอกใหม่ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีประกาศเรื่องของการล็อกดาวน์การเดินทางของต่างชาติเข้าประเทศ แต่จากสถานการณ์เช่นนี้ก็ยังคงต้องจับตามอง ถึงการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของประเทศต่างๆในยุโรปจะมีมาตรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ แต่ที่แน่ๆการล็อกดาวน์ของประเทศนั้นก็คงไม่มีนักท่องเที่ยวอยากเดินทางเข้าไปเที่ยวอยู่แล้ว


 

เอเชียเริ่มทยอยปลดล็อก

ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่อันดับสองรองจากภูมิภาคยุโรป แม้หลายประเทศในภูมิภาค เช่น ไทย จีน นิวซีแลนด์ จะสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี และปัจจุบันเน้นการออกมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบมีข้อจำกัด

โดยจีน มีมาตรการการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมาย โดยตั้งแต่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Five-One Policy คือ อนุญาตให้สายการระหว่างประเทศสามารถบินเข้าสู่น่านฟ้าของจีน ได้ โดยจำกัด 1 เส้นทางต่อ 1 ประเทศ และมีความถี่ไม่เกิน 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และมีโอกาสเพิ่ม/ลดเที่ยวบินได้ตามมาตรการ Reward and Fuse

มาตรการให้รางวัล (Reward) คือ เที่ยวบินใดไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เข้าประเทศจีนเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 สัปดาห์ สามารถเพิ่มเที่ยวบินเข้าประเทศจีนได้จำนวน 1 เที่ยวบิน โดยสามารถเลือกเขตเมืองที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินมาก่อน แต่ต้องมีความถี่ไม่เกิน 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์

        ส่วนมาตรการลงโทษ (Fuse) คือ เที่ยวบินใดพบผู้ป่วยรายใหม่เกิน 5 คน/เที่ยวบิน จะต้องหยุดทำการบินเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ และหากพบผู้ป่วยรายใหม่เกิน 10 คน/เที่ยวบินจะต้องหยุดทำการบินเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์โดยในช่วงของการหยุดบินจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปยังเส้นทางอื่นได้ ทั้งนี้ หลังจากการลงโทษสิ้นสุดลง สายการบินจึงจะสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามเส้นทางเดิมที่เคยกำหนด โดยสายการบินของไทยก็เคยได้รับมาตรการลงโทษดังกล่าว

ผ่ามาตรการประเทศต่างๆทั่วโลก  เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นอกจากนี้ จีน ยังเน้นการเปิดอนุญาตให้อีกหลายประเทศ ใช้สิทธิ์ช่องเขียว (Green Lane) คือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ เพื่อการเดินทางธุรกิจและการค้า โดยจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องกักกันตัว 14 วัน แต่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเข้ารับการตรวจเชื้อและหากพบเชื้อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยออกค่าใช้จ่ายเอง

ขณะที่ญี่ปุ่นก็เริ่มเปิดให้เฉพาะกลุ่มที่ทำงาน/พำนักในญี่ปุ่นระยะยาว  /นักธุรกิจ/นักเรียน ในบางประเทศรวมถึงไทย ขณะที่สิงคโปร์ จำกัดเฉพาะผู้เดินทางที่เป็นทางการและนักธุรกิจและอยู่ระหว่างเตรียมตั้งห้องแล็บตรวจโควิด-19 ภายในสนามบินชางงี ภายใน 2-3 เดือนนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกักกันตัว 14 วัน เพื่อเปิดพรมแดน ต้อนรับชาวต่างชาติ และฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันรัฐบาลปลดล็อกหลายวีซ่า เปิดทางให้ชาวต่างชาติทยอยเข้าไทยได้ในกลางเดือนตุลาคมนี้ แต่ยังคงต้องกักตัว 14 วัน อาทิ ผู้ถือบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด, ผู้ถือวีซ่าลองสเตย์, ผู้ถือบัตร APEC, ผู้ถือวีซ่าประเภทนักท่องเที่ยวพิเศษ (STV), ต่างชาติที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่รพ.ในไทย และเตรียมจะปลดล็อกให้มีการขอวีซ่าท่องเที่ยวเข้าได้ และการใช้โครงการ STV นำร่องเพื่อลดระยะเวลาการกักตัวในไทยต่ำกว่า 14 วัน

การทยอยผ่อนคลายให้เกิดการเดินทางควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลด้านสาธารณสุขในการคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นกลไกสำคัญที่พอให้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวได้บ้าง แต่กว่าจะฟื้นตัวก็คงต้องรอถึงปี2567 เพราะแม้ประเทศต่างๆจะมีมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีการจำกัดเรื่องของเที่ยวบิน และตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนใช้เป็นการแพร่หลาย  การเดินทางก็ไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว

 ดังนั้นในปีนี้ก็คาดว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกในปี 2563 น่าจะหดตัวประมาณ 77.7% จากปีก่อน หรือมีจำนวนเพียงประมาณ 324 ล้านคน จาก 1.45 พันล้านคนในปี 2562 ขณะที่รายได้การท่องเที่ยวโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 320,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 1.48 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,621 วันที่ 25 - 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
3 ประเทศใหญ่ในยุโรปประกาศล็อกดาวน์ระลอก2 คุมโควิดระบาดหนักหน้าหนาว
อาเซียนต้า หนุนสร้างมาตรฐานโควิด ดัน "อาเซียน" เที่ยวกันเอง
เทียบฟอร์ม ‘สายการบินโลก’ งัดกลยุทธ์ดิ้นฝ่าวิกฤติโควิด-19