ยอดขายบัตรโอลิมปิกซบเซา ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองรุมเร้าบราซิล

22 เม.ย. 2559 | 10:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แม้การเตรียมการเรื่องสนามแข่งขันสำหรับกีฬาโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นในบราซิลในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่หลากหลายด้านที่รุมเร้า ตั้งแต่ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ไปจนถึงการระบาดของไวรัสซิก้า ส่งผลให้ยอดขายบัตรต่ำกว่าความคาดหมาย

กีฬาโอลิมปิกกำลังจะเริ่มต้นขึ้นที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในวันที่ 5 สิงหาคมที่จะถึงนี้ โดยหลังจากการเริ่มต้นก่อสร้างสนามแข่งขันต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า แต่จนถึงขณะนี้การเตรียมการในส่วนดังกล่าวมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วกว่ากำหนด และสนามแข่งขันส่วนใหญ่มีความพร้อมสำหรับการแข่งขัน

อย่างไรก็ดี เวลานี้ประเทศเจ้าภาพบราซิลกำลังเผชิญกับปัญหาในด้านอื่นๆ รุมเร้า ตั้งแต่กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟฟ์ และความวุ่นวายทางการเมืองที่มีโอกาสเกิดขึ้นต่อจากนี้ โดยไม่เป็นที่แน่ชัดว่านางรุสเซฟฟ์จะยังคงอยู่ในตำแหน่งเมื่อการแข่งขันโอลิมปิกเริ่มต้นขึ้นหรือไม่ ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังเผชิญกับการหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ ด้วยอัตราคนว่างงานถึง 10%

นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสซิก้าอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวและชมกีฬาโอลิมปิก อีกทั้งยังมีการปรับลดงบประมาณในหลายส่วน ไม่เว้นแม้แต่ด้านความปลอดภัย

คณะกรรมการจัดการแข่งขันกล่าวว่า จนถึงขณะนี้มีบัตรเข้าชมการแข่งขันที่ขายไปแล้วเพียง 50% จากจำนวน 3.5 ล้านใบที่จัดไว้ให้สำหรับชาวบราซิลเท่านั้น ส่วนยอดขายบัตรสำหรับชาวต่างชาติก็ไม่คึกคักเช่นเดียวกัน ขณะที่ยอดขายบัตรกีฬาพาราลิมปิกยิ่งย่ำแย่กว่า โดยขายไปได้แล้วเพียง 15% เป็นยอดขายที่ต่ำกว่าที่ลอนดอนขายได้ในช่วงก่อนถึงการแข่งขันในปี 2555

นายริคาร์โด เลย์เซอร์ รัฐมนตรีกีฬาของบราซิลคนใหม่ ให้คำมั่นว่าจะกระตุ้นยอดขายบัตรให้เพิ่มขึ้น โดยมีทางแก้ปัญหาบางประการที่กำลังพิจารณาเพื่อไม่ให้สนามแข่งขันไม่มีผู้ชม หนึ่งในนั้นคือการซื้อบัตรกีฬาพาราลิมปิกและนำไปแจกให้กับนักเรียนโรงเรียนรัฐบาล เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ทางการบราซิลกล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้ยอดขายบัตรในประเทศชะลอตัวนั้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะชาวบราซิลไม่ทราบว่าสามารถเข้าไปชมเกมการแข่งขันได้ อีกทั้งไม่คุ้นเคยกับการซื้อบัตรชมกีฬาล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม เหตุผลอีกส่วนหนึ่งดูเหมือนว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ราคาสินค้าและอาหารแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำลังการใช้จ่ายของชาวบราซิลลดลง จึงมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะนำมาซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันกีฬาที่ตนเองไม่สนใจ

ขณะเดียวกันการระบาดของไวรัสซิก้าก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อคาดหวังของบราซิลในการใช้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกระตุ้นการท่องเที่ยว ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ได้ออกมาให้คำแนะนำให้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางมายังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว ซึ่งบราซิลนับเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาด หลังมีหลักฐานว่าไวรัสซิก้าเป็นต้นเหตุของความผิดปกติของเด็กแรกเกิด และแพทย์กังวลว่าหญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อดังกล่าวอาจคลอดทารกที่ผิดปกติออกมา

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทางการของบราซิลยังมีเวลาสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวก่อนถึงการแข่งขัน และนักท่องเที่ยวจำนวนมากจะตัดสินใจในช่วงใกล้การแข่งขันเมื่อมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น "ขึ้นอยู่กับว่าบราซิลเตรียมการรับมือกับซิก้าอย่างไร ถ้าแสดงให้เห็นว่าสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ พวกเขาจะไม่สูญเสียนักท่องเที่ยว" ลอรี เพนนิงตัน-เกรย์ ผู้อำนวยการโครงการท่องเที่ยวและบริหารจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยฟลอริด้ากล่าว

บราซิลได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกประจำปี 2559 เมื่อ 7 ปีก่อน เมื่อครั้งที่เศรษฐกิจยังเติบโตรวดเร็วและการเมืองมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ดี แอนดรูว์ ซิมบาลิสต์ นักเศรษฐศาสตร์จากสมิธ คอลเลจ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้นที่เจ้าภาพจัดการแข่งขันสามารถพูดได้ว่ามีรายได้เท่าทุนหรือมีกำไร ขณะที่ส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสนามแข่งขันและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตลอดจนในระหว่างการแข่งขันสูงกว่ารายได้ที่ได้กลับคืนมาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2559