RIP จอร์จ ฟลอยด์ การตายที่ไม่สูญเปล่า

09 มิ.ย. 2563 | 23:30 น.

การเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวสีชาวอเมริกัน ไม่เพียงจุดกำเนิดการประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการใช้ความรุนแรงโดยตำรวจ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลก แต่ยังปลุกกระแสความเคลื่อนไหวโดยฝ่ายนิติบัญญัติในสหรัฐ ให้มีการปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ  

 

พิธีศพของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายชาวอเมริกันผิวสีที่เสียชีวิตในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองมินนิอาโปลิสควบคุมตัวเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน มีขึ้นเมื่อวันอังคาร (9 มิ.ย.) ตามเวลาในสหรัฐฯ ที่เมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นเมืองที่ชายวัย 46 ปีคนนี้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่หลังย้ายมาจากบ้านเกิดที่เมืองฟาแยตต์วิลล์ ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา สมาชิกครอบครัวและมิตรสหายเข้าร่วมพิธีศพซึ่งจัดขึ้นเป็นการภายใน โดยหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จากกรมตำรวจเมืองฮูสตันได้นำขบวนพาร่างไร้วิญญาณของฟลอยด์ ไปยังสุสานในเมืองเพิร์ลแลนด์ ซึ่งอยู่ใกล้เคียง เพื่อฝังข้างๆ หลุมศพมารดาของเขา

ร่างของฟลอยด์อยู่ในโลงสีทองอร่าม

การเสียชีวิตของฟลอยด์กลายเป็นจุดกำเนิดของการชุมนุมประท้วงทั่วสหรัฐฯ และในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการใช้ความรุนแรงโดยตำรวจ

 

นายเบนจามิน ครัมป์ ทนายความประจำครอบครัวของฟลอยด์ ทวีตข้อความว่า อดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในขณะนี้ ได้เดินทางมายังเมืองฮูสตันเพื่อพบเป็นการส่วนตัวกับญาติของฟลอยด์เมื่อวันจันทร์ และมีการพูดคุยกันนานกว่า 1 ชั่วโมง

เบนจามิน ครัมป์ ทนายความประจำครอบครัวของฟลอยด์ ทวีตข้อความและภาพถ่ายนายโจ ไบเดน ขณะเยี่ยมให้กำลังใจสมาชิกครอบครัวของฟลอยด์เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.

สำนักข่าววอยซ์ ออฟ อเมริกา (วีโอเอ) รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายเดเร็ก ชอวิน อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ซึ่งจับกุมตัวฟลอยด์และใช้หัวเข่ากดทับลำคอของเขานานถึง 8 นาที 46 วินาที ก่อนฟลอยด์จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ได้ปรากฏตัวในศาลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่อัยการปรับข้อหาให้มีโทษหนักขึ้น จากคดีฆ่าคนตายโดยไม่ไตร่ตรองไว้ก่อน (third degree murder) มาเป็นทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยมีเจตนา แต่ไม่ได้วางแผนก่อนล่วงหน้า (second degree murder)

 

รายงานข่าวระบุว่า ชอวินไม่ได้พูดอะไรมากในระหว่างการปรากฏตัวในศาลผ่านกล้องวงจรปิดจากเรือนจำความมั่นคงสูงสุด หลังจากนี้ เขามีกำหนดขึ้นศาลครั้งต่อไปในวันที่ 29 มิ.ย. 

RIP จอร์จ ฟลอยด์ การตายที่ไม่สูญเปล่า

แรงกระเพื่อมในคองเกรส

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของนักการเมืองสหรัฐฯ ในประเด็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชาวอเมริกันเชื้อสายต่าง ๆ โดยเฉพาะคนผิวสีนี้ เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ  แม้แต่ในฝั่งพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรครัฐบาล โดยวุฒิสมาชิก มิตต์ รอมนีย์ ได้กลายมาเป็นสมาชิกพรรครัฐบาลรายแรกที่เข้าร่วมกับผู้ชุมนุมเดินขบวนในกรุงวอชิงตันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก่อนจะทวีตภาพจากการชุมนุมหลายภาพพร้อมข้อความ “Black Lives Matter” (ชีวิตของคนผิวสีก็มีค่า) “RACISM KILLS” (การเหยียดเชื้อชาติฆ่าคนได้) และ “BE JUST, LOVE MERCY, WALK HUMBLY” (จงให้ความยุติธรรม รักและเมตตา และก้าวเดินอย่างถ่อมตน)

 

รอมนีย์ ยังให้สัมภาษณ์กับสถานีข่าว เอ็นบีซี นิวส์ ว่า สหรัฐฯ ต้องการได้ยินเสียงผู้คนออกมาต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ รวมทั้งการใช้ความรุนแรงด้วย

 

ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 มิ.ย.) ผู้คนหลายพันคนยังเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของฟลอยด์ หลังทางการรัฐต่าง ๆ ยกเลิกคำสั่งเคอร์ฟิวที่ออกมาก่อนหน้านี้เพื่อป้องกันการ ปล้นสะดม และทำลายทรัพย์สินทั้งของผู้อื่นและที่เป็นของสาธารณะที่เกิดขึ้นหลังการประท้วงเริ่มขึ้นไม่กี่วัน (อ่านเพิ่มเติม : ทั่วโลกร่วมประท้วงเรียกร้องยุติการเหยียดสีผิว)

 

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวในฝั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่ โดยการเคลื่อนไหวครั้งนี้ กลายมาเป็นข้อขัดแย้งรอบล่าสุดกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้หน่วยงานรักษากฎหมายยกระดับความเข้มข้นในการทำงานให้สูงขึ้น

 

เรียกร้องปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่

วีโอเอรายงานว่า แคเรน แบสส์ ส.ส.พรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามผลักดันร่างกฎหมายใหม่นี้ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า การดำเนินแผนปฏิรูปนี้จะทำให้คนทั่วโลกได้เป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในสหรัฐฯ ที่มีการเดินขบวนเรียกร้องให้ยุติการกระทำรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ การเหยียดเชื้อชาติ และหยุดกระบวนการปฏิเสธการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บ

 

หลังเหตุการณ์เสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการจุดประกายการชุมนุมทั่วทั้งสหรัฐฯ และในหลายประเทศทั่วโลก สมาชิกพรรคเดโมแครตทั้งในสภาล่างและสภาสูง ได้ออกมาร่วมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มีการร่วมรับผิดในกรณีการปฏิบัติหน้าที่มีปัญหา รวมทั้งให้มีการติดตามพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีปัญหา และยุติการส่งมอบยุทโธปกรณ์ทางการทหารให้หน่วยงานตำรวจทั่วประเทศใช้งาน

RIP จอร์จ ฟลอยด์ การตายที่ไม่สูญเปล่า

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า กฎหมายใหม่นี้จะจำกัดการปกป้องตำรวจในทางกฎหมาย รวมทั้งสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจทั่วประเทศ ยกเลิกวิธีกดหรือรัดคอผู้ถูกจับกุม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ซึ่งทางพรรคเดโมแครตบอกว่า จะเป็นการยกเครื่องวิธีการใช้กำลังของตำรวจอเมริกันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี

 

ร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นในขณะที่กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการถ่ายวิดีโอการจับกุมของตำรวจออกเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ ทั่วประเทศ และทั่วโลก

 

นอกจากจะมุ่งจำกัดการใช้กำลังของตำรวจระหว่างการจับกุมแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินคดีได้ง่ายขึ้นกับตำรวจที่กระทำผิดหรือละเมิดสิทธิของผู้ถูกจับกุม รวมถึงการเพิ่มอำนาจให้กับกระทรวงยุติธรรมในการสอบสวนการกระทำผิดของตำรวจในรัฐต่าง ๆ ตลอดจนการจัดทำ "ทะเบียนการประพฤติผิดของตำรวจแห่งชาติ" ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลรวมทั่วประเทศเพื่อป้องกันการย้ายตำรวจที่กระทำผิดจากสำนักงานตำรวจแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งโดยไม่มีข้อมูลดังกล่าวติดตามไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รวมข้อเสนอเรื่องการตัดงบประมาณของตำรวจ ตามที่นักรณรงค์เรียกร้องสิทธิพลเมืองได้เสนอไว้

 

ทั้งนี้ ส.ส.พรรคเดโมแครตมีกำหนดประชุมรับฟังรายละเอียดต่าง ๆ ในวันพุธนี้ (10 มิ.ย.) เกี่ยวกับร่างกฎหมายที่มีชื่อว่า Justice in Policing Act ที่ทางกลุ่มหวังว่าจะสามารถผลักดันให้มีผลบังคับใช้ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งพรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมากอยู่ให้ได้เสียก่อน ขณะที่มีรายงานว่า วุฒิสภามีกำหนดพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในสัปดาห์หน้าแล้ว

 

ที่ผ่านมา ความพยายามปฏิรูปการทำงานของตำรวจและกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐฯ ล้มเหลวมาโดยตลอด และในครั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า พรรครีพับลิกันจะเห็นด้วยกับข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมากน้อยเพียงใด