“อีโบลา” กลับมาระบาดในคองโก

03 มิ.ย. 2563 | 01:20 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเตือน ระวังโรคอีโบลาจะกลับมาระบาดซ้ำอีกระลอก หลังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มถึง 6 รายในประเทศคองโก

 

นายแพทย์ เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ได้ออกมายืนยันเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาขึ้นอีกครั้ง ในประเทศคองโก หลังจากที่ทางการคองโกพบผู้ป่วยโรคอีโบลารายใหม่เพิ่มถึง 6 ราย ในจังหวัดอะเควเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในทางตอนเหนือของประเทศ

นายแพทย์ เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส

ล่าสุดมีรายงานว่า พบผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสชนิดนี้แล้ว 4 ราย ซึ่งการแพร่ระบาดครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองที่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ในปี 2561 มีผู้เสียชีวิตจากโรคร้ายดังกล่าว 33 ราย ก่อนที่จะมีการควบคุมโรคได้ในเวลาไม่กี่เดือน ทั้งนี้ WHO ยืนยันจะให้ความช่วยเหลือรัฐบาลคองโกในการรับมือกับโรคอีโบลาอย่างเต็มที่

“อีโบลา” กลับมาระบาดในคองโก

 นอกเหนือจากการกลับมาระบาดรอบสองของโรคอีโบลาแล้ว ประเทศคองโกยังกำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก  โดยขณะนี้ คองโกมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนสะสมมากกว่า 3,000 ราย นอกจากนี้ ยังมียอดผู้ป่วยโรคหัดอีกอย่างน้อย 300,000 รายภายในประเทศ

การรักษาจำเป็นต้องมีการแยกผู้ป่วยและป้องกันอย่างรัดกุมเพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโรค

ทั้งนี้ โรคอีโบลา เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส อีโบลา (Ebola virus) เป็นโรคที่มีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต พบว่ามีการระบาดครั้งแรกที่ประเทศคองโก ซึ่งตั้งอยู่ในแอฟริกากลาง เมื่อได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย ไวรัสจะสร้างความเสียหายแก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ในที่สุดแล้วจะทำให้ระดับเซลล์การแข็งตัวของเลือด (Blood-Clotting Cells) ต่ำลง และนำไปสู่ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้

 

เมื่ออาการมีความรุนแรงมากขึ้น จะทำให้เกิดเลือดออกในร่างกาย รวมไปถึงเลือดออกจากทางตา หูและจมูก ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการอาเจียนหรือไอออกมาเป็นเลือด ท้องร่วงเป็นเลือด และมีผื่นขึ้น

 

ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาโรคอีโบลาได้ การรักษาจึงเป็นการประคับประคองหรือควบคุมอาการ เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก จึงต้องทำการรักษาในโรงพยาบาลและจำเป็นต้องมีการแยกผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโรค โดยแพทย์จะรักษาตามอาการ

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม ความหมาย อีโบลา