ไต้หวันอัดฉีด 7,000 ล้าน อุ้มธุรกิจท่องเที่ยวฝ่าโควิด

08 เม.ย. 2563 | 06:52 น.

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต./ทูตพาณิชย์) รายงานว่าสภาบริหารไต้หวัน (คณะรัฐมนตรี) ได้ประกาศมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของไต้หวันช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการจ้างของพนักงานในธุรกิจจำนวนประมาณ 140,000 ตำแหน่ง โดยรัฐจะให้การอุดหนุนค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 20,000 ดอลลาร์ไต้หวันต่อคน(หรือ 21,800 บาท คำนวณที่ 1.09 บาทต่อดอลลาร์ไต้หวัน) คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณรวม 7,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน(7,630 ล้านบาท)

 โดยในงานแถลงข่าว สภาบริหารชี้ว่า ผู้ประกอบการที่จะได้รับความสนับสนุนในครั้งนี้ จะครอบคลุมถึงธุรกิจโรงแรมจำนวน 3,500 แห่ง เกสต์เฮาส์ 8,000 แห่ง บริษัททัวร์ 3,100 แห่ง และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอื่น ๆ 25 แห่ง รวมตำแหน่งงานในธุรกิจทั้งหมดประมาณ 140,000 ตำแหน่ง

ไต้หวันอัดฉีด 7,000 ล้าน  อุ้มธุรกิจท่องเที่ยวฝ่าโควิด

สำหรับธุรกิจที่จะขอรับความสนับสนุนจะต้องมีผลประกอบการที่หดตัวมากกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไปเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ ไม่มีการให้พนักงานลาหยุดโดยไม่ได้รับเงินเดือน และไม่มีการลดเงินเดือนของพนักงานเกินกว่าร้อยละ 20 โดยรัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนร้อยละ 40 ของเงินเดือนเดิมที่พนักงานแต่ละคนได้รับเป็นเวลา 3 เดือน แต่ไม่เกินเดือนละ 20,000 ดอลลาร์ไต้หวันต่อคน โดยจะให้เงินอุดหนุนเงินเดือนในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563

 ตัวอย่างเช่น พนักงาน A รับเงินเดือนจากการทำงานกับบริษัททัวร์ 50,000 ดอลลาร์ไต้หวัน หลังเกิดการแพร่ ระบาดของโรคโควิด-19 ทางบริษัทจึงขอลดเงินเดือนของพนักงาน A ลงร้อยละ 20 เหลือเพียง 40,000 ดอลลาร์ไต้หวันต่อเดือน หากบริษัทนี้ได้รับความสนับสนุนจากมาตรการนี้ รัฐบาลจะช่วยอุดหนุนเงินเดือนของพนักงาน A จำนวนร้อยละ 40 ของเงินเดือนเดิมเท่ากับ 20,000 ดอลลาร์ไต้หวัน เท่ากับว่าแบ่งเบาภาระของบริษัทในการจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน A เหลือเพียงร้อยละ 40 ของเงินเดือนเดิมคือ 20,000  ดอลลาร์ไต้หวันเท่านั้น

ไต้หวันอัดฉีด 7,000 ล้าน  อุ้มธุรกิจท่องเที่ยวฝ่าโควิด

ทั้งนี้ รัฐบาลไต้หวันโดยกระทรวงคมนาคม ได้ประกาศให้การอุดหนุนผู้ประกอบการในการแบ่งเบาภาระด้านเงินเดือนพนักงานเพียงร้อยละ 20 แต่ไม่เกินเดือนละ 10,000 ดอลลาร์ไต้หวันต่อคน อย่างไรก็ดีหลังจากที่ได้มีการปรึกษาเป็นการภายในแล้ว จึงได้มีการปรับเพิ่มอัตราส่วนในการให้ความสนับสนุน โดยหลังจากมีการใช้มาตรการใหม่นี้แล้วจะสามารถช่วยผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวในการแบ่งเบาภาระด้านเงินเดือนได้ถึงครึ่งหนึ่ง