WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับโลก 'ไวรัสอู่ฮั่น'

31 ม.ค. 2563 | 01:15 น.

ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือWHO แถลงที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นภัยสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารรณสุขที่น่าวิตกของนานาชาติ หรือเป็นภัยพิบัติด้านสุขภาพระดับโลก พร้อมระบุเหตุผลหลักที่ประกาศครั้งนี้ ไม่ได้ยึดเอาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในจีน แต่ยึดเอาตามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ 
"ขอชี้แจงตรงนี้ว่าการประกาศครั้งนี้ ไม่ใช่การลงมติไม่ไว้วางใจในจีน"

คำประกาศนี้ไม่ได้สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดภายในจีน แต่เป็นเพราะสถานการณ์ในประเทศอื่นๆ ทำให้มีความกังวลว่าไวรัสอาจแพร่ไปยังประเทศที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอ เป็นการแพร่ระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับโลก 'ไวรัสอู่ฮั่น'

ขณะที่คณะกรรมการด้านสาธารณสุขของจีน แถลงยืนยันวันนี้ว่า มีผู้เสียชีวิตจากอาการปอดอักเสบเพราะไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เป็น 213 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 9,692 ราย และมีผู้ป่วยที่มีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อ โดยอยู่ระหว่างเฝ้าระวังเพื่อดูอาการอีกจำนวน 102,000 คน

ด้านนายจิติพล  พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินและตลาดทุนธนาคารกรุงไทย มองว่า การที่  WHO ประกาศให้ไวรัสโคโรน่าเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก จะทำให้ทั่วโลกต้องยกระดับการป้องกันมากขึ้น ส่งผลให้ไวรัสลดการแพร่กระจายลงในอนาคต หุ้นสหรัฐ จึงกลับไปซื้อขายตามผลประกอบการที่หลายบริษัทยังสามารถสร้างสถิติกำไรใหม่ได้อยู่ ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น 0.3% 
 

WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับโลก 'ไวรัสอู่ฮั่น'

หากย้อนกลับไป “องค์การอนามัยโลก” เคยประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณะสุขระหว่างประเทศ” มาแล้ว ดังนี้ 

ปี 2545-2546 การแพร่ระบาดของไวรัสซาร์ส (SARS) เริ่มแพร่ระบาดในมณฑลกวางตุ้น ก่อนระบาดใน 27 ประเทศทั่วโลก ระบาดมากที่สุดในจีน ฮ่องกง ไต้หวัน แคนาดา สิงคโปร์ มีผู้ติดเชื้อประมาณ 8,096 ราย เสียชีวิต 774 ราย 

ปี 2552 การแพร่ระบาดของ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) หรือ ไข้หวัดสุกร (Swine Flu) เริ่มแพร่ระบาดในเมรารูซ ประเทศเม็กซิโก พบผู้ติดเชื้อกว่า 130 ประเทศ ระบาดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก อินเดีย และจีน มีผู้ติดเชื้อหลายล้านราย เสียชีวิต 1.5-5.7 แสนราย
 
ปี 2557 เกิดการแพร่ระบาดของ ไวรัสโปลิโอโดย WHO ประกาศให้ทุกประเทศช่วยกันกวาดล้างให้โรคนนี้หมดไปตั้งแต่ปี 2531 โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด คือ อัฟกานิสถาน และปากีสถาน มีรายงานผู้ติดเชื้อปี 2562 จำนวน 422 ราย    
 
ปี 2557 เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา ในแอฟริกา พบผู้ติดเชื้อกว่า 10 ประเทศ ระบาดมากที่สุดใน เซียร์ราลีโอน โลบีเรีย และกินี มีผู้ติดเชื้อกว่า 28,000 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตปี 2559 จำนวน 11,000 ราย 
 
ปี 2559 การแพร่ระบาดของไวรัสซิกา ในบราซิล ลาตินอเมริกา พบผู้ติดเชื้อกว่า 90 ประเทศมีผู้ติดเชื้อเฉพาะในทวีปอเมริกากว่า 4 ล้านราย มีผู้เสียชีวิต จำนวนมาก 
 
ปี 2561-2563  เกิดการระบาดของไวรัสอีโบรารอบใหม่ในคองโก มีผู้ติดเชื้อ 3,905 ราย ผู้เสียชีวิต 2,241 ราย