‘ย่างกุ้ง’เริ่มบริการรถเมล์สายด่วน ยกระดับระบบขนส่งเมืองใหญ่

17 ก.พ. 2559 | 00:00 น.
เมียนมาเปิดให้บริการระบบรถโดยสารประจำทางแบบด่วน (Bus Rapid Transit: BRT) เป็นครั้งแรกที่กรุงย่างกุ้ง เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีการนำเข้ารถมาจากต่างประเทศถึง 18 คัน เป็นรถยี่ห้อ King Long จากประเทศจีน และฮุนไดจากเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ยังสั่งจองรถโดยสารเพิ่มเติมจากอีก 3 บริษัท คือ แดวูจากเกาหลีใต้ ไฮเกอร์ (Higer) จากจีน และสกาเนีย (Scanier) จากสวีเดน มาเสริมให้บริการอีกในอนาคต

ดร. หม่อง อ่อง ประธานบริษัท ย่างกุ้ง บัส ไลน์ พับลิค คอมปานี ผู้ให้บริการระบบรถโดยสาร BRT ในกรุงย่างกุ้งเป็นรายแรกเปิดเผยว่า ในขั้นต้นนี้ การให้บริการไม่ได้คำนึงว่าจะต้องทำกำไรได้มาก ที่ตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทเป็นบริษัทมหาชนก็เพื่อหวังพัฒนาระบบขนส่งผู้โดยสารที่ทันสมัยให้ดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากหากให้ภาครัฐเป็นผู้บริหารจัดการก็อาจดำเนินการไปได้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม บริษัท ย่างกุ้ง บัส ไลน์ พับลิค คอมปานี มีรัฐบาลเป็นผู้ลงทุน 1 หมื่นล้านจ๊าต หรือคิดเป็นสัดส่วน 40% ของหุ้นทั้งหมดมูลค่ารวม 2.5 หมื่นล้านจ๊าต (ประมาณ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 684 ล้านบาท) นอกนั้นเป็นการถือหุ้นของกลุ่มธุรกิจเอกชน 5 บริษัท คิดเป็นมูลค่ารวม 1 หมื่นล้านจ๊าต (ได้แก่ บริษัท ฉ่วยตานวิน บริษัท ฉ่วยตวง กรุ๊ป บริษัท ไดมอนด์ สตาร์ บริษัท เซย่า แอนด์ แอสโซชิเอตส์ และบริษัท มารีน โปรดัคท์ ทูเธาเซิน แต่ละบริษัทถือหุ้น 8% หรือคิดเป็นมูลค่า 2 พันล้านจ๊าต) ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เป็นประชาชนทั่วไป 5 พันล้านจ๊าต ราคาหุ้นของบริษัทที่เปิดขายต่อประชาชนทั่วไปอยู่ที่หุ้นละ 1 แสนจ๊าต โครงการนี้นับเป็นก้าวแรกของการปฏิรูประบบขนส่งมวลชนด้วยรถโดยสารประจำทางในกรุงย่างกุ้ง

ขณะนี้สายแรก หรือสายหมายเลข 1 เริ่มวิ่งแล้วตั้งแต่เวลา 6.30 น. ถึง 21.30 น. สายหมายเลข 2 กำลังจะตามมาในเร็ววัน ทั้งนี้ รถทุกคันติดตั้งกล้องวงจรปิด ส่วนรถโดยสารประจำทางที่เคยวิ่งอยู่ในเส้นทางนี้ก็จะไปวิ่งให้บริการในเส้นทางอื่น โดยทางบริษัท ย่างกุ้ง บัส ไลน์ พับลิค คอมปานี ได้หารือเรื่องการแบ่งสรรเส้นทางเดินรถกับบริษัทผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางรายอื่นๆและคณะกรรมการพัฒนาเมืองย่างกุ้ง หรือ YCDC แล้วเพื่อให้รถ BRT สามารถวิ่งได้โดยใช้ความเร็วและไม่มีจุดตัดกับเส้นทางเดินรถสายอื่นมากนัก เป้าหมายคือการให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่สามารถใช้ความเร็วและลดเวลาในการเดินทางลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับในอดีต
ข่าวจากสื่อท้องถิ่นระบุว่า เส้นทางเดินรถ BRT สายหมายเลข 1 นี้ จะวิ่งไปบนเลนเฉพาะทางด้านขวาสุดของถนนพะเยและถนนเจดีย์กาบาร์เอย์ในกรุงย่างกุ้ง มีจำนวนป้ายโดยสารทั้งหมด 36 ป้าย และในอนาคตจะมีการวิ่งไปถึงเมืองไลน์ตายา มหาวิทยาลัยดากอง และเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองย่างกุ้ง

ด้านนายลา อ่อง ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตนครย่างกุ้งด้านยานยนต์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเส้นทางบริการรถโดยสารประจำทางในกรุงย่างกุ้ง 49 สายบนถนนพะเย และ 45 สายบนถนนเจดีย์กาบาร์เอย์ มีผู้โดยสารใช้บริการเกือบๆ 7 แสนคนต่อวัน เขามองว่ารถ BRT จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ให้บริการรถโดยสารอยู่แล้วในปัจจุบัน เพราะผู้ประกอบการทุกรายยังสามารถให้บริการตามปกติ แต่หากบริการรถ BRT ประสบความสำเร็จ รัฐบาลก็อาจจะพิจารณาแผนปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนในกรุงย่างกุ้งเพิ่มเติมอีกตามความเหมาะสม

ในส่วนของบริการรถ BRT นั้นเขามองว่าเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ ซึ่งหมายรวมถึงในส่วนของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารด้วย โดยบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารของรถ BRT จะได้รับค่าตอบแทนในรูปเงินเดือนซึ่งแตกต่างจากพนักงานขับรถโดยสารของบริษัทอื่นๆ ที่ต้องแข่งกันขับรถแย่งผู้โดยสารเนื่องจากได้รับค่าตอบแทนเป็นส่วนแบ่งจากค่าโดยสาร นอกจากนี้ พนักงานขับรถ BRT ยังจะต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อสามารถขับขี่และใช้งานรถโดยสารรุ่นใหม่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และยังต้องผ่านการทดสอบด้านจิตวิทยาอีกด้วย

"ทุกวันนี้ประชาชนใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในการเดินทางประจำวัน และรถโดยสารที่มีอยู่ก็ไม่ค่อยปลอดภัย ผมหวังว่ารถ BRT จะทำให้การเดินทางของพวกเขามีความสะดวกสบายมากขึ้น" ดร. หม่อง อ่อง ประธานบริษัท ย่างกุ้ง บัส ไลน์ พับลิค คอมปานี กล่าวในที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559