รัฐปลดล็อกส่งออกน้ำมันดิบ ยันคุณภาพไม่ตรงตามสเปกโรงกลั่นอีก4แหล่งจ่อส่งออกมี.ค.นี้

13 ก.พ. 2559 | 10:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไฟเขียวให้เอกชนส่งออกน้ำมันดิบได้แล้ว ประเดิมด้วยแหล่งวาสนาส่งออกน้ำมันดิบ 3.9 แสนบาร์เรล ชี้ปัจจัยคุณภาพน้ำมันดิบไม่ตรงสเปกโรงกลั่นไทย ล่าสุดเตรียมจ่ออนุมัติดันอีก 4 แหล่งทยอยส่งออกเพิ่ม ส่วนสัมปทานรอบ 21 คาดชัดเจนภายในปีนี้

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้มีนโยบายห้ามส่งออกน้ำมันดิบ เพื่อลดข้อขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ ที่ให้สงวนน้ำมันดิบที่ผลิตได้ไว้ใช้ในประเทศ แต่เนื่องจากคุณภาพน้ำมันดิบที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ไม่ตรงตามคุณภาพหรือสเปกที่จะส่งเข้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ และบางส่วนถูกกดราคารับซื้อ ทำให้ผู้ผลิตเรียกร้องให้กรมปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา กรมจึงได้อนุมัติการส่งออกน้ำมันดิบบางแหล่งที่ไม่สามารถนำเข้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไปบ้างแล้ว

โดยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้อนุมัติส่งออกน้ำมันดิบในแหล่งวาสนาล๊อตแรก 2.9 แสนบาร์เรลและล็อตสองอีก 3.9 แสนบาร์เรลเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา ขณะที่แหล่งน้ำมันดิบที่เหลือซึ่งมีสเปกน้ำมันไม่ตรงกับโรงกลั่นน้ำมันของไทย เตรียมทยอยส่งออกในเดือนมีนาคมนี้ อาทิ แหล่งน้ำมันดิบบัวหลวง โดยจะต้องมีขั้นตอนการประมูลราคาซื้อขายให้กับโรงกลั่นน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ การปลดล็อกการส่งออกน้ำมันดิบดังกล่าว ยืนยันว่าเป็นการส่งออกน้ำมันคุณภาพที่ไม่ตรงกับความต้องการของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ เนื่องจากน้ำมันดิบจากบางแหล่ง ได้แก่ แหล่งวาสนา บัวหลวง สงขลา มโนราห์ และนงเยาว์ เป็นน้ำมันที่มีสารปนเปื้อนสูง ส่งผลให้โรงกลั่นในประเทศไม่สามารถกลั่นได้ตามกระบวนการปกติ และหากต้องลงทุนปรับปรุงอุปกรณ์เพื่อการกลั่นกลุ่มน้ำมันประเภทนี้ เป็นการลงทุนที่ไม่สอดคล้องตามหลักการบริหารจัดการที่เป็นธรรมและเหมาะสม เพราะปริมาณน้ำมันดิบที่มีคุณภาพไม่เหมาะสมที่ผลิตได้จากแหล่งในประเทศที่อยู่ในข่ายส่งออกดังกล่าว คิดเป็นเพียง 5% ของน้ำมันดิบที่จัดหาได้จากแหล่งในประเทศทั้งหมด

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่บางรายอ้างว่าไทยส่งออกน้ำมันดิบคุณภาพดีกว่าโรงกลั่นของไทยนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะจะเห็นได้ว่าราคาขายน้ำมันดิบแหล่งวาสนาเป็นราคาต่ำกว่าน้ำมันดิบดูไบ 9 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ดังนั้น หากคุณภาพน้ำมันดิบสูงเหมือนแหล่งเบญจมาศจะได้ราคาซื้อขายสูงกว่าน้ำมันดิบดูไบ ขณะที่แหล่งน้ำมันดิบในประเทศ แบ่งเป็น แหล่งในอ่าวไทย 1.3 แสนบาร์เรลต่อวัน และแหล่งบนบกประมาณ 5-6 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งไปยังโรงกลั่นไทยออยล์ พีทีทีจีซี และบางจาก

อย่างไรก็ตาม การให้สิทธิเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกว่าจะถึงขั้นตอนการพัฒนา หรือผลิตต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 8-9 ปี และเมื่อค้นพบและผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาได้ ส่วนใหญ่ก็ใช้ในประเทศเป็นหลัก แต่ในกรณีที่ค้นพบน้ำมันดิบที่มีสารปนเปื้อนและมีคุณภาพไม่ตรงความต้องการของโรงกลั่นและตลาดภายในประเทศและมีความจำเป็นต้องส่งออก จะพิจารณาเฉพาะส่วนที่จำเป็นจริงๆ โดยการส่งออกน้ำมับดิบจะเป็นการสร้างมูลค่า(ด้านราคา) ของน้ำมันดิบที่มีคุณภาพต่ำได้มากกว่า

"การส่งออกน้ำมันดิบใน 5 แหล่ง กำลังการผลิตรวม 4-4.8 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ที่มีคุณภาพน้ำมันไม่ตรงตามที่โรงกลั่นในประเทศต้องการ จะทยอยส่งออก เพราะบางแหล่งต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนในการสะสมน้ำมันดิบให้ได้ตามปริมาณ และต้องเสนอขายในประเทศก่อน หากโรงกลั่นในประเทศไม่รับซื้อ ก็ต้องประมูลราคาส่งออกไปโรงกลั่นในต่างประเทศ"นายวีระศักดิ์ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 ขณะนี้การแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเฉพาะกฎหมายปิโตรเลียมจะเพิ่มทางเลือกในรูปแบบแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) เข้าไปด้วย ซึ่งเหมาะสมที่จะใช้ในแหล่งที่มีศักยภาพ ส่วนแหล่งสำรวจใหม่ๆ ที่มีขนาดเล็กและหายาก ส่วนตัวเห็นว่าเหมาะสมกับระบบสัมปทานมากกว่า อย่างไรก็ตามคงต้องรอผลการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเสร็จก่อน จากนั้นจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยคาดหวังว่าจะสามารถเปิดสำรวจได้ภายในปีนี้

นายสุริยันต์ อภิรักษ์สัตยากุล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การผลิตน้ำมันดิบในประเทศ จะถูกส่งเสริมให้ใช้ในประเทศก่อน แต่หากคุณภาพไม่ตรงกับที่โรงกลั่นในประเทศต้องการก็จำเป็นต้องส่งออก เพราะหากปรับปรุงหน่วยกลั่นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ส่วนสถานการณ์ธุรกิจขุดเจาะสำรวจในปีนี้ ยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการแท่นขุดเจาะชะลอการผลิตไปบ้างส่วน เบื้องต้นพบว่าแหล่งสงขลา หยุดผลิตชั่วคราวและ 4 แท่น ได้แก่ แท่นสงขลา C และ G กำลังการผลิตรวม 2.6 พันบาร์เรลต่อวัน ซึ่งทั้ง 2 แท่นจะกลับมาเดินเครื่องการผลิตอีกครั้ง เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559