อัดสรรหา กสทช. มาตรฐานเลือนลาง กังขาสเปกผู้เข้ารอบ

03 ก.พ. 2564 | 20:00 น.

หลังจากที่ถูกวิจารณ์ต่อกระบวนการสรรหาบุคคลให้เข้ารับตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เร่งรัดและไม่เป็นธรรม จนทำให้มีผู้ที่สมัครหลายราย เตรียมยื่นอุทธรณ์ และร้องเรียน ก่อนเลขาธิการวุฒิสภาในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหา กสทช. จะนำรายชื่อทั้ง 14 คน พร้อมประวัติ และเอกสารหลักฐาน เสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อมีมติเลือกต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

ล่าสุดนายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานกรรมการสรรหาได้ออกคำชี้แจงเกี่ยวกับการพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อให้เป็น กสทช.​ต่อวุฒิสภา โดยระบุว่ากรรมการปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ส่วนขั้นตอนและรายละเอียดของการคัดสรรนั้นกฎหมายไม่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ทำให้กรรมการต้องกำหนดหลักเกณฑ์ นอกจากนั้นแล้วกฎหมายกำหนดให้ใช้เวลาคัดเลือกเพียง 30 วัน ดังนั้นต้องหาวิธีเพื่อเร่งดำเนินการ อีกทั้งการดำเนินการที่รวดเร็วนั้นเพื่อสกัดการวิ่งเต้น

 

ขณะที่แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมผู้เข้าร่วมสมัครการสรรหา กสทช. แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับคุณสมบัตินั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คุณสมบัติต้องมีและคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 7 จะเห็นว่าหลายคนที่ผ่านเข้ารอบคุณสมบัติน่ากังขา ที่อยู่ๆ บอกว่าเป็นที่ปรึกษาบริษัทแห่งหนึ่ง 2 ปี เท่ากับประสบการณ์ครบ 10 ปี ซึ่งคณะกรรมการสรรหาก็เชื่อและให้ผ่าน จึงเกิดคำถามว่าการพิจารณาคุณสมบัตินั้นเป็นการพิจารณาคุณสมบัติโดยแท้หรือไม่ รวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์ได้มีการโชว์หลักฐานผลงานที่ผ่านมาระหว่างนักวิชาการที่เขียนอะไรก็ได้กับคนที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ในขณะที่ผมได้เปรียบที่เคยทำงานตรงนี้มาแต่ดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหากลับเลือกฟังคนที่ไม่เคยทำให้น้ำหนักคนที่ไม่เคยทำมากกว่า ถ้าใช้กรรมการสรรหาที่ไม่เข้าใจบริบทของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมสื่อสาร โทรทัศน์ วิทยุ แล้วจะไปเลือกหาได้อย่างไร ยังไง

 

“จะเห็นว่ามีผู้ที่เข้ารอบบางคนอยู่ดีๆ กลายไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทแห่งหนึ่งและอ้างว่าทำด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมา 2 ปี ถ้างั้นแบบนี้ก็อ้างได้หมด ขณะที่ผมดูแลด้านโทรคมนาคมมาแค่ 7 ปี จึงไม่สามารถสมัครในสายงานโทรคมนาคมได้ เรื่องของมาตรฐานมันเลือนๆ ขณะที่อดีตเลขาธิการ กสทช. อย่างท่านฐากร ที่อยู่ในสายงานโทรคมนาคมมากว่า 10 ปี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่กลับแพ้คนที่ไม่มีผลงาน คณะกรรมการสรรหาจะดูในเรื่องที่อยากดู แต่เรื่องที่เห็นได้ชัดกลับไม่ดู คณะกรรมการสรรหา กสทช. ควรเรียกสำนักงาน กสทช. มาบรีฟก่อนเพื่อทำความเข้าใจบริบทของอุตสาหกรรมสื่อสาร โทรคมหรือวิทยุโทรทัศน์ แล้วใช้คำถามกลางในการถาม ซึ่งที่ได้ยินมาคือ คำถามไม่เหมือนกันรวมถึงให้ระยะเวลาในการตอบที่ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตามหากผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกมีการยื่นอุทธรณ์ก็คงจะไม่เข้าร่วม” แหล่งข่าวกล่าว

 

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจว่า” รายชื่อที่ออกมานั้นคัดเลือกจากผู้มีความรู้ความสามารถในแต่ละด้าน ซึ่งอาจจะเป็นความตั้งใจของกรรมการสรรหาที่ต้องการคัดเลือกบุคลากรที่อาจจะไม่ได้ใหม่ในแวดวงแต่เป็นคนใหม่ต่อการทำงาน ทั้งนี้หากมองว่าผิดคาด คืออาจจะไม่ได้ปรากฏรายชื่อบิ๊กเนมหรือคนที่เคยทำงานในตำแหน่งเดิมของสำนักงาน กสทช. ที่หลายคนมองว่าเป็นตัวเต็งหรือเป็นคนที่น่าจะมีรายชื่อปรากฏเข้าสู่ขั้นตอนของการคัดเลือกของวุฒิสภา แต่ต้องเรียนว่าความคาดหวังแต่ละคนอาจจะมีหลายมุม

 

“ผมเข้าใจว่ากรรมการสรรหาน่าจะมีเหตุผลของกรรมการสรรหา ต่อให้ไม่มีรายชื่อของคนที่หลายคนคาดไว้ แต่ทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกก็มีเครดิตและมีประสบการณ์ ส่วนคุณสมบัติหรือกระบวนการในการสรรหาหรือการพิจารณาอาจจะต้องให้สิทธิ์กรรมการสรรหา” 

 

ที่มา : หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,650 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดรายชื่อ 14 อรหันต์ชิงบอร์ด กสทช.

พลิกโผ "ฐากร" ตัวเต็งไม่ติด 14 รายชื่อนั่งบอร์ด กสทช.

เปิดคุณสมบัติผู้สมัครชิงเก้าอี้ กรรมการ กสทช.