ส่องวิถี New Normal ‘โควิด-19’ ตัวเร่งองค์กรสู่ดิจิทัล

10 พ.ค. 2563 | 08:30 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

จากวิกฤติของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องมีการปรับตัวเพื่ออยู่รอด หลายองค์กรต้องปรับรูปแบบการทำงานจากเดิม ให้พนักงานทำงานที่บ้าน การประชุมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

 

ทั้งนี้เมื่อวิกฤติของโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่และกลายมาเป็นสิ่งที่คนทั่วไปทำเป็นปกติ หรือ New Normal คือ วิถีชีวิต โมเดลธุรกิจ การทำงานในรูปแบบใหม่ที่สถานการณ์นี้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 

นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการ ยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับเทรนด์ของ New Normal ที่จะเกิดขึ้นนั้นมองได้ 3 มุม คือ 1. ในแง่ของผู้บริโภค สิ่งที่เห็นได้ ชัดที่สุดคือเรื่องของอี-คอมเมิร์ซ และออนไลน์เซอร์วิสต่างๆ ที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะมีความคุ้นเคยในการใช้ e-Wallet หรือการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ มากขึ้น

 

หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 จะเห็นว่าถ้าทุกร้านค้าอย่างน้อยต้องมีเลขบัญชีหรือคิวอาร์โค้ดที่สามารถโอนเงินผ่านมือถือได้ มีการใช้เงินสดน้อยลง การใช้บริการ Self Service ผ่านแอพพลิเคชัน ซึ่งจะ เป็น New Normal ที่เกิดขึ้นกับคอนซูเมอร์

 

2. ส่วนขององค์กรที่จะเกิด New Normal ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนบริษัทต้องปรับสู่ความเป็นดิจิทัล (Digitize) สถานการณ์นี้จะช่วยเป็นตัวเร่งให้องค์กรสามารถ Digitize ได้เร็วขึ้นกว่าเดิมจากที่ไม่เคยมีประสบการณ์การ Work From Home การคอนเฟอเรนซ์ หลังจากพ้นวิกฤติโควิดไปแล้วองค์กรจะคุ้นเคยกับการทำงานที่บ้าน หรือควรจะ เป็นการ Work From Anywhere ทำงานที่ไหนก็ได้

 

ทั้งนี้การที่มีการ Work From Home ทำให้เห็นว่างานประเภทใดที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศก็สามารถทำงานได้นี่คือ New Normal ที่ช่วยให้องค์กร เกิดการจัดสรรทรัพยากรในรูปแบบใหม่

 

ส่องวิถี New Normal  ‘โควิด-19’  ตัวเร่งองค์กรสู่ดิจิทัล

 

และ 3. กระตุ้นให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสตาร์ตอัพ เกิดการปรับตัว จะเห็นว่าธุรกิจรายย่อยเหล่านี้ ที่ปรับตัวไม่ทันก็จะถูก ดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ สถานการณ์ นี้จะเป็นตัวเร่งให้เอสเอ็มอี มีโอกาสที่จะปรับตัวไปพร้อมกันเหมือนกับการถูกบังคับ ทำให้เห็นว่าต้องปรับตัวอย่างไรในช่วงวิกฤติเชื่อว่า เป็นผลดีที่ทำให้บริษัทเอสเอ็มอีหาทางที่จะต่อสู้กับวิกฤติและสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว โดยที่หากไม่มีเหตุการณ์นี้ก็จะไม่รู้ว่าต้องปรับตัวอย่างไร

ด้านนายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของโรคโควิด จะเห็นว่าองค์กรธุรกิจเริ่มใช้การทำงานผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากเดิมที่การทำงานจะต้องเดินทางไปออฟฟิศแต่ New Normal ที่เกิดขึ้นคือคนจะเริ่มยอมรับเรื่องของการทำงาน ผ่านออนไลน์ ข้อดีก็คือช่วยเรื่องของค่าใช้จ่ายระยะยาว การเดินทาง ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นทิศทางที่เป็นบวก

 

นอกจากนี้ เรื่องของ Workforce หรือแรงงานที่อนาคตคนรุ่นใหม่จะไม่ได้ทำงานประจำเพียงอย่างเดียว แต่จะมีเรื่องของอาชีพเสริมเข้ามา ตรงนี้จะเป็นจุดพลิกผันหลังจากที่ หลายคนเริ่มค้นพบทักษะด้านอื่นๆ ของตัวเองในช่วงการกักตัว พนักงานที่มีทางเลือกในการทำงานหลายรูปแบบมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อองค์กรในแง่จำนวนของพนักงานที่มีทักษะหรือประสบการณ์จะหา ได้ยากขึ้น พนักงานอยากเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น

 

ดังนั้น องค์กรควรจะมองเรื่องของเทคโนโลยีอย่าง Remote Expert ที่จะช่วยให้พนักงานใหม่ที่ถึงแม้จะไม่มีทักษะประสบการณ์ แต่สามารถที่จะขอความช่วยเหลือผ่านรีโมตโดยผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมส่วนกลางได้ เพราะพนักงานที่มีจำนวนน้อยลง ตรงนี้คือเทรนด์ที่เป็นไปได้ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดสรรแรงงานหรือพนักงานที่มีทักษะประสบ การณ์เพื่อให้สามารถทำประโยชน์ให้กับองค์กรได้สูงสุด

 

ขณะที่นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิดผ่านไปที่จะกลายเป็น New Normal คือ

 

1. วิธีการทำธุรกิจในองค์กรที่จะเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่ทุกคนเชื่อว่าการทำงาน ต้องไปออฟฟิศ แต่ตอนนี้ หลายธุรกิจก็เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานขององค์กรมาเป็นการทำงานที่บ้าน มีการสื่อสารผ่านกันผ่านอินเตอร์เน็ต

 

2. โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยน แปลงไป หลายธุรกิจไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนแปลงได้ก็เริ่มเปลี่ยน เช่น การหันมาใช้บริการดีลิเวอรี โมเดลธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากโดยมีพื้นฐาน ของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการชำระเงิน การขนส่งโลจิสติกส์ ทำให้ภาพรวมธุรกิจเปลี่ยนไป

 

3. พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิม วิธีการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิม ซึ่งส่งผลไปถึงช่วงหลังจากวิกฤติ ถึงแม้ว่าหลังจากพ้นวิกฤติโควิด-19 แล้วพฤติกรรมของผู้บริโภค อาจจะค่อยๆ เปลี่ยนกลับมาเป็นแบบเดิม แต่จะไม่เป็นแบบเดิมทั้งหมดยังคงมีบางส่วนที่ยอมรับกับสิ่งที่เป็นรูปแบบใหม่ที่ได้ลองทำในช่วงโควิด-19 ซึ่งจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะเจอช่องทางใหม่ๆ

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10-13 พฤษภาคม 2563