ผู้นำหญิง “3เอ็ม” หล่อหลอมวัฒนธรรม

12 เม.ย. 2564 | 03:10 น.

ในองค์กรยุคใหม่ เรื่องของเพศ ไม่ถือเป็นกำแพงขวางกั้นการทำงาน หรือการเติบโตของเพศหญิงอีกต่อไป เรื่องของ Diversity and Inclusion (D&I) หรือ แนวคิดการบริหารที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กรอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็น เพศสภาพ เชื้อชาติ วัฒนธรรม พื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม ความบกพร่องทางร่างกาย และประสบการณ์ ไม่ใช่อุปสรรคในการเติบโตก้าวหน้าอีกต่อไป แต่ทั้งนี้ “ผู้นำ” ก็ต้องมีภาวะที่ดี ในการนำพาองค์กรไปในทิศทางที่ถูกต้องด้วย

สำหรับ “คุณปู-วิยะดา ศรีนาคนันทน์” ประธานบริหาร บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย เธอบอกเลยว่า Diversity and Inclusion คือ หนึ่งหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร 3เอ็ม โดยเห็นได้จากตัวเธอเอง ที่ได้รับโอกาสในการเติบโตในองค์กรนี้มาอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานที่ 3เอ็มในปี 2559 ด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย และยังได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร ปีถัดมาก็ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานสภาผู้นำสตรีของ 3เอ็ม ในปี 2561และยังได้รับตำแหน่งเป็นประธานเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร (Inclusion Champion) เพื่อช่วยส่งเสริมความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมที่ 3เอ็ม ประเทศไทย ก่อนที่จะขึ้นนั่งตำแหน่ง ประธานบริหาร 3เอ็ม ประเทศไทย หรือ Country Leaders ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่แทนตำแหน่งกรรมการผู้จัดการที่ยกเลิกไป ตามโครงสร้างใหม่ที่ 3เอ็มทั่วโลกจัดทำขึ้นเมื่อปี 2563

 

วิยะดา ศรีนาคนันทน์ ประธานบริหาร บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย

ภารกิจสำคัญของการนั่งทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ นอกจากการขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กร ก็คือ การขับเคลื่อนวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กร พร้อมทั้งดูแลพนักงานให้มีรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อทำให้องค์กรเดินหน้าไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

“วัฒนธรรมของเราลูกค้าคือหัวใจ และขับเคลื่อนด้วยการรวมกันเป็นหนึ่ง ปรับให้ไวเปลี่ยนให้เร็ว และต้องปฏิบัติอย่างถูกกฎหมายและมีจริยธรรม”

ในความที่เป็น 3 เอ็ม ประเทศไทย “คุณปู” บอกว่า 3เอ็ม มีพื้นฐานที่ดีมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี โดยพนักงานมีความหลากหลายและเท่าเทียม มีสิทธิในการเติบโตเท่าๆ กันหากมีความสามารถ หน้าที่ของเธอ จึงเป็นเพียงแค่เข้ามาเสริมและผลักดันให้เป็นไปตามเป้า

อย่างเรื่องของพนักงานผู้หญิง สิ่งที่เราจะช่วยหล่อหลอมให้เขาพร้อมเติบโตได้ คือ การสอนให้เขาเปิดกว้างและลงมือทำเมื่อมีโอกาสเข้ามา ไม่ยึดติดอยู่ในคอมฟอร์ตโซน หรือไม่ทำเฉพาะหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ต้องพร้อมเรียนรู้งานใหม่ๆ และทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มกำลัง

ส่วนเรื่องการรวมกันเป็นหนึ่ง “คุณปู” ได้สร้างโปรแกรม “พี่เลี้ยงกลับด้าน” (Reverse Mentoring) โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากน้องๆ จัดให้น้องๆ ช่วยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับรุ่นพี่ เนื่องจากในองค์กร 3เอ็ม ซึ่งมีพนักงานที่หลากหลาย การเปิดโปรแกรมนี้ขึ้น ทำให้ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิด มุมมอง รวมทั้งได้รับรู้ความต้องการของคนรุ่นใหม่

“สิ่งที่ได้จากคนรุ่นใหม่ คือ เรารู้ว่าเขาอยากได้อะไร อยากปฏิบัติอย่างไร เดิมเราคิดว่าคุยกันแต่เรื่องงานแล้วจบ แต่ในมุมของเน็กซ์เจน เขาอยากมีไลฟ์สไตล์ ความสัมพันธ์ที่มากกว่าคนทำงานร่วมกัน การเปิดรับฟัง ทำให้เกิดความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน (empathy) และทำให้คนรุ่นใหม่กล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประสบการณ์มากกว่า หรือตำแหน่งใหญ่กว่า ก็สามารถนำแนวคิดที่ได้รับ ไปปรับให้เกิดความพอดีเหมาะสมในการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น”

“คุณปู” ยกตัวอย่างความท้าทายในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ทำให้ได้เห็นศักยภาพการร่วมมือร่วมใจ พนักงานพร้อมที่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และมีความทุ่มเทในการทำงาน จนทำให้ล่าสุดได้เกิดรูปแบบการทำงานใหม่ ในโปรแกรมที่เรียกว่า Flexibility Program คือ พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้อาทิตย์ละ 2 วัน และหากพนักงานมาทำงานออฟฟิศเร็วขึ้น ก็สามารถกลับไปทำงานต่อที่บ้านได้เร็วขึ้น ทำให้พนักงานสามารถบาลานซ์การใช้ชีวิตได้ดีขึ้น โดยประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้ลดลง

 

ผู้นำหญิง “3เอ็ม” หล่อหลอมวัฒนธรรม

“ตอนนี้เราพร้อมสำหรับอนาคต...ชีวิตคนทำงานออฟฟิศเปลี่ยนไป อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่าง หัวหน้างาน และตัวเรา ซึ่งแนวทางการทำงานแบบ Flexibility เป็นแนวทางของ 3เอ็ม ทั่วโลก”

“คุณปู” ยํ้าว่า ทิศทางของ 3M เราจะให้เป็นไปตามที่พนักงานอยากได้ คือ มีคอนเน็คชั่นระหว่างพนักงาน อยู่กันเป็นครอบครัว และจากสิ่งเหล่านั้น จะตอบได้ว่า ประสิทธิผลก็จะมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 24 ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564