Tellscore พลิกวิกฤติคว้าโอกาส สร้างตลาด Influencer Marketing

08 ม.ค. 2564 | 02:50 น.

ยุคที่โจทย์การตลาดเปลี่ยน คนหันมาทำการตลาดดิจิทัลกันมาก แบรนด์ต่างๆ หันมาใช้ Micro-Influencer เข้ามาช่วยสื่อสารถึงคุณสมบัติของสินค้า

ท่ามกลางวิกฤติครั้งใหญ่ที่มีทั้ง Digital Technology และ COVID-19 เข้ามา Disrupt ส่งผลให้การดำรงชีวิต ไปจนถึงภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ที่ปรับตัวเร็ว มองเห็นวิกฤติในโอกาสก่อนคนอื่น จะสามารถก้าวเดินต่อได้ และหนึ่งในนั้นคือ “คุณปู-สุวิตา จรัญวงศ์” ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทลสกอร์ จำกัด (Tellscore) ที่ค้นพบโอกาสและก้าวเดินไปข้างหน้าตั้งแต่ปี 2560 กับการสร้างแพลตฟอร์มอินฟลูเอนเซอร์ ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบการตลาดอัตโนมัติ

นักบริหารหญิงคนนี้ ใช้ความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การสื่อสารดิจิทัล และการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ รวมทั้งประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล และสาขา Visual Design จาก University of Oregon รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงปริญญาโท สาขา Computer Arts in Interactive Multimedia จาก School of Visual Arts รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สร้างสรรค์งานให้กับหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น เนสท์เล่, สยามพิวรรธน์, LINE, ธนาคารไทยพาณิชย์, 3เอ็ม, ซีพีเอฟ, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, ดัชมิลล์, ทรู, ปตท.สผ., บางจาก และอีกหลายบริษัท

 

Tellscore พลิกวิกฤติคว้าโอกาส สร้างตลาด Influencer Marketing

 

ด้วยความโดดเด่นของงาน ทำให้ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ Thailand Startup of the Year จากงาน ASEAN Rice Bowl Startup Awards 2019 และรางวัลที่หนึ่งจากงาน depa (Digital Economy Promotion Agency) Accelerator 2019 ตลอนจนได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการ LINE ScaleUp Partner 2019 อีกด้วย

“สุวิตา” เล่าว่า เธอและ ฮาว-อมรเทพ ฉิมพลีนภานนท์ ก่อตั้ง Tellscore ขึ้นในปี 2560 ซึ่งเป็นยุคที่โจทย์การตลาดเปลี่ยน คนหันมาทำการตลาดดิจิทัลกันมาก ทำให้แบรนด์ต่างๆ หันมาใช้ Micro-Influencer หรือบุคคลที่มีผู้ติดตามประมาณ 1,000-10,000 คนบนโซเชียลมีเดีย เข้ามาช่วยสื่อสารถึงคุณสมบัติของสินค้า Tellscore จึงพัฒนาแพลทฟอร์มขึ้นมาช่วยเชื่อมโยงแบรนด์ กับ Micro-Influencer เข้าด้วยกัน

Tellscore ทำหน้าที่จัดหา Micro-Influencer จนปัจจุบัน Tellscore มี Micro-Influencer ที่ร่วมงานด้วย ทั้งในเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ กว่า 5 หมื่นคน ใน 12 กลุ่มงาน ได้แก่ 1. ผู้หญิง ความงาม และแฟชั่น 2.อาหาร กิน ดื่ม 3.เทคโนโลยี แก็ดเจ็ต และเกม4.ดีไซน์ ออกแบบ ศิลปะ และการตกแต่ง 5.การเงิน ลงทุน อสังหาฯ 6.ดนตรี หนัง ละคร ศิลปิน ดารา 7.รถยนต์ มอเตอร์สปอร์ต  8.สุขภาพ กีฬา แม่และเด็ก 9.ข่าว กระแส วาไรตี้ 10.ท่องเที่ยว 11.ไลฟ์สไตล์ งานอดิเรก ทำอาหาร สัตว์เลี้ยง และ 12. กูรูด้านอื่นๆ

จากจำนวน Micro-Influencer ที่มี และความแปลกใหม่ของธุรกิจ ที่ตรงกับความต้องการของตลาด Tellscore และการนำเสนอให้เห็นจริงว่า Micro-Influencer ช่วยเสริมแบรนด์ได้ผลอย่างไร ผ่านการรายงานสรุปสถิติผลของการใช้ Micro-Influencer ให้แก่แบรนด์ ทำให้ Tellscore ได้รับการยอมรับในตลาดและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จนขยายธุรกิจไปจาการ์ตา อินโดนีเซีย ในปี 2562 และ โคลอมเบียในปี 2563

คุณสุวิตา จรัญวงศ์” ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทลสกอร์ จำกัด (Tellscore)

 

“สุวิตา” มองว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญของ Influencer Marketing คือการก้าวเข้าสู่ยุค Influencer Economy หรือระบบเศรษฐกิจอินฟลูเอนเซอร์ที่มีขนาดใหญ่ เป็นสื่อประเภทหนึ่งบนโลกออนไลน์ ที่นอกจากจะสร้างคอนเทนต์ได้แล้ว ยังสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อ (Media) ที่ขายสินค้าโดยไม่แฝงการรีวิวอีกด้วย ยิ่งมีวิกฤติ COVID-19 เป็นแรงผลักดัน วันนี้อินฟลูเอนเซอร์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือการตลาดทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์  จนปัจจุบันมีมูลค่าตลาดกว่า 2 พันล้านบาท

สุวิตา” ทิ้งท้ายถึงเทรนด์อินฟลูเอนเซอร์ปี 2564 ที่ตลาดให้ความสนใจ มีทั้งอินฟลูเอนเซอร์ สายวายคอนเทนท์, สายสีเขียว ที่ดูหล่อ ดูเท่, บล็อกเกอร์ ที่เกี่ยวกับสารคดี, สาย silver content หรือสายผู้สูงวัย หรือจะเป็น สายกิน ที่กินให้ดู กินให้น่าอร่อย ก็ยังเป็นที่สนใจ  

ส่วนบรรดาบล็อกเกอร์ ภาพการสื่อสารเปลี่ยนไปแล้ว การไลฟ์สดขายของได้รับความนิยมมากขึ้น โดยมี COVID-19 เป็นตัวเร่ง เพราะสามารถสร้าง connectivity แบบเรียลไทม์ ยิ่งถ้าผู้ขายแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ สามารถสื่อสารพูดคุยกับผู้บริโภคได้ทันที จะยิ่งช่วยให้เกิดการตอบรับที่ดี

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564