ปิดทองหลังพระ...บูรณาการสืบสานแนวพระราชดำริ

13 เม.ย. 2562 | 03:30 น.

ในฐานะประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ  “หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล” เดินหน้าทำงานแบบ “กัดติด” ด้วยรูปแบบการบูรณาการ ด้วยการบุกป่า ฝ่าดง ขึ้นดอย ลงชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้ เพื่อรับฟังและเรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านจริงๆ ซึ่งวิธีการทำงานแบบลุยจริง ทำจริงเช่นนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ผู้สืบสานแนวพระราชดำริท่านนี้ ทำมาตั้งแต่เริ่ม ทั้งกับโครงการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และโครงการปิดทองหลังพระ

ปิดทองหลังพระ...บูรณาการสืบสานแนวพระราชดำริ

ทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น

“คุณชายดิศ” บอกว่า การสร้างความเสมอภาค คือ การสร้างให้เกิดศรัทธา “เราต้องก้มหัวลงไป ไม่ใช่มึงเก่ง กูเก่ง เราต้องเรียนรู้ปัญหาชาวบ้าน ต้องลงไปทุกหลังทุกครัวเรือน ดูว่า นี่คือปัญหาของเขาจริงๆ แล้วเอาศาสตร์พระราชามาแมตช์ 50% ส่วนที่เหลือ คือ ไปเรียนรู้ แล้วลงมือทำจริง”

เป้าหมายการทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระ คือ การกระตุกต่อมคิด และระดมความคิด แล้วนำมาบูรณาการร่วมกันอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่พูด แต่ลงมือทำจริงๆ ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2553 ที่ก่อตั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระ เริ่มดำเนินการโดยใช้จังหวัดน่านเป็นพื้นที่ต้นแบบ เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งเมื่อปี 2550 ว่า ที่น่านทำมากว่า 10 ปีไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น ซึ่งทำให้คุณชายตกใจมาก จึงส่งทีมของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงลงไปดูพื้นที่ว่ามีปัญหาอะไร ซึ่งก็พบว่า มีทั้งปัญหาการทำกิน ความยากจน ภูเขาหัวโล้น และน่าน เป็นหนึ่งใน 3 ของจังหวัดที่จนที่สุดของประเทศไทย จึงได้เริ่มพัฒนาเรื่องของป่า และนํ้า ทำได้ 2.5 แสนไร่ เป็นพื้นที่ต้นแบบการปลูกป่า 

“เราเอาปัญหาคนยากคนจน เกษตรกร ปัญหาใหญ่ของเขาคือนํ้า  ผมพูดเรื่องนํ้า มาตั้งแต่ปี 2557 และได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีไปว่า ให้เอาเขื่อนเก่าๆ มาซ่อม ถ้าเราแก้ปัญหานํ้าพวกนี้ได้ เกษตรกรจะสามารถทำกินได้ เราปลูกทุกอย่างกิน กินทุกอย่างที่ปลูก เลี้ยงทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่เลี้ยง ผมปลูกพริกไว้กระถางเดียวตั้งไว้หน้าบ้าน เราก็กินไม่หมด แถมยังแบ่งปันให้คนอื่นได้ ถ้าเราทำได้แบบนี้ หนี้ชาวบ้านก็จะน้อยลง” 

จากผลการดำเนินงานของปิดทองหลังพระ ปัจจุบันพื้นที่ต้นแบบได้ขยายไปยังทุกภาค ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุทัยธานี เพชรบุรี และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้มีประชาชนได้รับนํ้าแล้วเกือบ 8 หมื่นครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 275,107 ไร่ มีประชาชนเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพ 4,536 ครัวเรือน ในช่วงเวลา 9 ปี ปิดทองหลังพระ ใช้งบประมาณด้านระบบนํ้าและส่งเสริมอาชีพรวม 961.6 ล้านบาท ทำให้เกิดรายได้ทางตรง 2,308 ล้านบาท คิดเป็น 2.4 เท่าของเงินลงทุน 

วิธีคิดของคุณชายในการลงทุนพัฒนาพื้นที่แต่ละแห่ง คือ การดูที่่ผลลัพธ์ (outcome) เป็นตัวตั้ง ต้องรู้ว่าทำแล้วประชาชนได้อะไร หากตอบไม่ได้ ก็ไม่ลงทุน และเมื่อรู้ปัญหา ก็ต้องมาทำงานร่วมกัน ตามแนวพระราชดำริ โดยยึดแนวทาง 3 S คือ S ตัวแรก Survive อยู่รอด ต้องมีการพัฒนาคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต่อเนื่อง S ตัวที่ 2 คือ Sufficient พอเพียง และสุดท้ายคือ Sustainability ความยั่งยืน นำการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ใช้ “เกษตรทฤษฎีใหม่แบบประณีต” มาช่วยสร้างให้เกิดอาชีพ  เกิดรายได้

“คุณชายดิศ” บอกอีกว่า ผลงานที่ผ่านมา พอใจเพียงแค่ระดับหนึ่ง พร้อมยกตัวอย่าง กาฬสินธุ์ ลงทุนไปแล้ว 474 ล้านบาท แต่ได้กลับมาแค่ 145 ล้านบาท ทำมาเกือบ 5 ปี แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะอะไร เพราะเราขุดลึกลงไป 5 เมตร เจอดินทราย ก็นำไปถมที่ที่เคยนนํ้า ท่วม 6 พันไร่ ที่กาฬสินธุ์ต้องใช้เวลาปรับดิน 5-6 ปี อย่างน้อย หลังจากนั้นจึงจะเห็นผล ตรงนี้ก็ต้องรอ อีกจังหวัดคือ เพชรบุรี ลงไป 19 ล้านบาท แต่ได้คืนมาแค่ 9.1 ล้านบาท อันนี้เราผิดที่เราไม่กัดต่อเนื่อง ตรงนี้คือ ตำหนิตัวเอง การทำงานอะไรก็ตามต้องทำต่อเนื่อง ไม่หยุด ต้องมีความต่อเนื่องอย่าปล่อย 

อีกบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของมูลนิธิปิดทองหลังพระ คือ การเป็นตัวกลาง ที่เชื่อมระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ คุณชายเล่าว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี เคยมาเสนอเงินให้ 60 ล้านบาท แต่ท่านไม่รับ เพราะสิ่งที่ท่านต้องการคือ มากกว่า 60 ล้านบาท ซึ่งก็คือความรู้ที่กลุ่มซีพีมี ทั้งความรู้ด้านการตลาด โลจิสติกส์ การทำแพ็กเกจจิ้ง เพื่อนำผลิตผลของเกษตรกรไปขายยังประเทศจีน 

“การทำหน้าที่คนกลางของปิดทองหลังพระ คือ การทำให้เกิดความเป็นธรรม เกษตรกรไม่ถูกกดราคา พ่อค้าได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น เมื่อปิดทองฯ เข้าช่วย ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน มีรายได้ 8,296 บาทต่อต้น จากที่ปกติจะได้กว่า 3 พันบาทต่อต้น” 

ปิดทองหลังพระ...บูรณาการสืบสานแนวพระราชดำริ

เป้าหมายต่อไปของปิดทองหลังพระ นอกจากการสานต่อแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 แล้ว คือ การขยายภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชน นำองค์ความรู้ดีๆ มาพัฒนาต่อ เพื่อให้ชาวบ้านปลดหนี้ได้ มีที่ทำกินได้ และมีรายได้เลี้ยงตัวเอง นั่นคือความยั่งยืน และเป้าที่ “หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล” จะเดินหน้าต่อไป  

 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,460 วันที่ 11 - 13  เมษายน พ.ศ. 2562

ปิดทองหลังพระ...บูรณาการสืบสานแนวพระราชดำริ