ประธาน 10 ล้ออาเซียนจี้รัฐ เร่งดูดเงินนักลงทุนช่วยยกระดับเส้นทางโลจิสติกส์

06 ก.ย. 2559 | 01:00 น.
ประธาน 10 ล้ออาเซียน จี้ภาครัฐสร้างความชัดเจนด้านนโยบาย-ไล่บี้เจ้าหน้าที่รัฐใส่เกียร์พร้อมรุก หนุนบูรณาการความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านให้ชัดเจนในทุกมิติ ยกพญามังกรจีนเป็นโมเดลย้ำเลิกกฎหมายกีดกันการค้า หวังสร้างแรงจูงใจดูดเงินทุนนักลงทุนต่างชาติ สยายปีกรับการขยายตัวทุกรอยต่อประตูการค้าชายแดนรับโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน (ATF) เปิดเผยว่า ATF อยู่ระหว่างการเร่งติดตามถึงความไม่คืบหน้าการผลักดันเขตเศรษฐกิจของไทยว่าหลังภาครัฐประกาศผลักดันสร้างเขตเศรษฐกิจ 10 แห่งทั่วประเทศ ถึงวันนี้ผ่านไป 2 ปีกว่าแล้ว แต่ความคืบหน้าของแต่ละแห่งยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน กรณีนี้ตนขอยกตัวอย่างการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศจีน ที่ใช้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจนผงาดเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก

"ประเทศจีนได้ร่างกฎหมายด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นเป็นเอกเทศ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จนกระทั่งพญามังกรจีนผงาดเป็นประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจที่สองของโลกไปแล้ว ถึงเวลานี้จีนเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษมาทั้งหมด 4 แห่ง ที่แรกคือเซินเจิ้น เพื่อเป็นแหล่งดึงทุนจากฮ่องกงอย่างเดียว แห่งที่ 2 คือที่ซัวเถา เป็นฐานดึงเงินทุนจากประเทศไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านไทย และประเทศอื่นๆในอาเซียน แห่งที่สาม ฝูเจี้ยน เป็นแหล่งดูดเงินทุนจากไต้หวัน และแห่งที่ 4 จู่ไห่ เป็นแหล่งดึงทุนจากมาเก๋า ซึ่งทั้ง 4 เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ จีนล้วนกำหนดเป้าหมายชัดเจนในแง่มุมของแหล่งเงินทุน นักลงทุน รวมถึงกฎหมายที่เปิดกว้างด้านการค้าการลงทุน"

ขณะเดียวกันนายยู ยังเปรียบเทียบกับขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจของไทยว่าเศรษฐกิจประเทศไทยที่รัฐบาลประกาศเดินหน้ามา 2 ปีกว่าแล้ว แต่ทุกวันนี้ทั้ง 10 เขตยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหนเลยว่า เหตุที่ยังไม่คืบหน้า ประการแรกผู้นำประเทศต้องเข้าใจคอนเซ็ปต์ด้านเขตเศรษฐกิจอย่างถ่องแท้เสียก่อน ไม่ใช่การสั่งการแค่เชิงนโยบายเท่านั้น

ประการที่ 2 ข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดเอกภาพ ชิงความเป็นใหญ่ในการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ขาดเอกภาพในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และไม่อาจขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ ส่งผลให้วันนี้ทุกเขตเศรษฐกิจยังหาข้อสรุปไม่ได้

"อีกประเด็นหนึ่งไทยเราต้องสร้างชัดเจนในแง่ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจนในทุกๆมิติมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพิเศษด้านการลงทุนต่างๆ ควรให้มีการบูรณาการร่วมกันมากขึ้นในทุกมิติ นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่สร้างความสับสนให้กับนักลงทุนต่างชาติ นั่นก็คือเรื่องของกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน โดยเฉพาะกฎหมายด้านศุลกากร ที่มีเนื้อหาสร้างปัญหาด้านการดีแคลร์เสียภาษี ที่บางครั้งถูกตรวจสอบย้อนหลัง เป็นเหตุให้นักลงทุนขาดแรงจูงใจและไม่อยากแสดงเจตจำนงการมาลงทุนในไทย"

ทั้งนี้นายยู กล่าวอีกว่าปัจจุบันเส้นทางโลจิสติกส์ของไทยที่พร้อมเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านถือได้ว่ามีความพร้อมมากกว่าประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้และได้ขยายการให้ความช่วยเหลือไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องโดยดึงภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมมือกันได้หลายแนวทาง

"กรณีตัวอย่างของเมียนมาช่วงผ่านด่านแม่สอด คือสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าฝั่งเมียนมาเตรียมพื้นที่รองรับไว้แล้ว แต่ในฝั่งไทยยังไม่เห็นวี่แววใด ๆเป็นเพียงนโยบายที่ยังถือว่าเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ แต่หากรัฐบาลไทยเร่งยกคุณภาพและเร่งยกระดับการให้บริการเชื่อว่าจะสามารถเข้าไปแข่งขันกับเมียนมาได้อย่างแน่นอน แต่ข้อเสียก็มีไม่น้อยโดยเฉพาะรถจากประเทศเพื่อนบ้านจะเข้ามาใช้เส้นทางในพื้นที่ของไทยได้มากน้อยขนาดไหนรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งแก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับปัจจุบันและมองถึงการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตเอาไว้ด้วย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559