ตลาดบ้านหรู ปฏิเสธสินเชื่อตํ่า กําไรดี

15 เม.ย. 2564 | 02:34 น.

คอลัมน์ : ผ่ามุมคิด

การประกาศ “เทิร์นอะราวด์” ทางรายได้ ปี 2564 ของกลุ่มบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) สู่โหมดการรุกหาดีมานด์ในตลาดใหม่ๆ อย่างโอกาสในธุรกิจสุขภาพที่กำลังร้อนแรง ผ่านการปั้นบริษัท GGG ให้ขึ้นเป็นผู้ผลิตและส่งออก “ถุงมือยาง” รายใหญ่ ด้วยเป้ารายได้ไม่ต่ำกว่า 9 พัน -1 หมื่นล้านบาทต่อปี เปรียบเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด และมีลุ้นให้เพอร์เฟค พลิกกลับมามีกำไรในปีนี้อีกครั้ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจหลัก ยังสวมบท เป็นผู้พัฒนาเบอร์ต้นในตลาดบ้านหรู โดยมีดีมานด์อันหอมหวาน และแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มขึ้น เป็นธงนำทาง ผ่านการแข่งขันที่ดูเหมือนจะไม่ง่ายอย่างเก่านั้น ‘เพอร์เฟค’ คิด และมองอย่างไร ต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ “ฐานเศรษฐกิจ”

ย้อนรอยมุมมอง มือขวาคนสำคัญ นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจที่อยู่อาศัย บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค หลังประกาศ ส่งโครงการ “Lake Legend บางนา-สุวรรณภูมิ” สะเทือนตลาดบ้านหรู 

ผลักดันรายได้เติบโต

การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ยังเป็นธุรกิจหลักที่จะสร้างรายได้ให้กับบริษัท โดยปีนี้เป้ารายได้รวมของกลุ่มอยู่ที่ 21,370 ล้านบาท ซึ่งราว 1.3 หมื่นล้านบาท จะมาจากธุรกิจที่อยู่อาศัย ส่วนเป้ายอดขายวางไว้ที่ 1.73 หมื่นล้านบาท

ซึ่งจะมาจากทั้งการพัฒนาโครงการใหม่ และโครงการที่อยู่ระหว่างการขาย (บ้านและคอนโดฯ) รวม 57 โครงการ แบ่งเป็นยอดขายจากบ้านเดี่ยว 1.2 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าเติบโตราว 30%, คอนโดฯ 2.5 พันล้านบาท, โครงการร่วมทุน 2 พันล้านบาท และจากการตั้งเป้าปิดการขายโครงการ ยู คิโรโระ ที่ประเทศญี่ปุ่น อีก 800 ล้านบาท

“เป็นเป้าหมายทางรายได้ และยอดขายที่ค่อนข้างท้าทาย โดยเฉพาะกลุ่มบ้านเดี่ยว ซึ่งปีที่แล้วหดตัว ทำได้เพียง 9 พันล้านบาท แต่ปีนี้เล็งเห็นโอกาส ส่วนคอนโดฯ คงเป็นการขายของเก่า รอโอกาสกลับมา โดยมีที่ดินรอการพัฒนาได้อีกหลายแปลงพร้อมแล้ว คาดจะเจาะในกลุ่ม ล้านปลายๆ และช่วงราคา 3-4 ล้านบาท ที่มีความเป็นไปได้”

อสังหาฯทรงไม่ดี

เมื่อถามถึง ทิศทางตลาดอสังหาฯในปีนี้ นายวงศกรณ์ ระบุว่า อย่างที่รับรู้ ประเทศไทยยังคงอยู่กับสถานการณ์โควิด ต่อเนื่องเข้าปีที่ 2 แล้ว โดยเป็นแรงกดดันในแง่ปัจจัยลบ และเป็นตัวแปรสำคัญ ที่มีผลต่ออัตราการฟื้นตัวของอสังหาฯ โดยจะเกี่ยวเนื่องกับการฉีด-เข้าถึงวัคซีนอย่างครอบคลุมของประชากรไทเป็นหลัก

ไม่นับรวมปัจจัยลบเดิม ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และดีกรีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คงส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ, กำลังซื้อที่ลดลง จากรายได้ลดลง จีดีพีลด อัตราการว่างงานก็เพิ่มขึ้น ประกอบกับกลุ่มต่างชาติยังไม่กลับมา

ส่วนปัจจัยบวกนั้น ส่วนใหญ่ยังมาจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ทำให้บางธุรกิจฟื้นตัวได้ตั้งแต่ ช่วงเดือน ก.ค. ต่อเนื่องสิ้นปี 63 แต่อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกใหม่ตั้งปี 64 ทำให้ ยอดขายโดยรวมของไตรมาสแรกของปี ที่คาดว่าจะดีขึ้น กลับไปอยู่ในภาวะทรงตัวเช่นเดิมซึ่งยังเป็นเหตุผลหลัก ที่ทำให้ผู้ประกอบการ ยังคงทยอยปรับกลยุทธ์ในการหารายได้อย่างต่อเนื่อง 

ผุดโครงการใหญ่แม่เหล็ก

ทั้งนี้ สำหรับการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้นั้น จะเปิดรวมทั้งสิ้น 6 โครงการ มูลค่า 9.93 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นโครงการแนวราบทั้งหมด และเป็นบ้านกลุ่มระดับบน เนื่องจากมองว่า เป็นกลุ่มลูกค้าที่แข็งแกร่ง ประสบปัญหาถูกธนาคารปฎิเสธสินเชื่อ (รีเจ็กต์) น้อยที่สุด อีกทั้งสร้างกำไรเติบโตได้ดี

โดยกลยุทธ์ จะเน้นโครงการไม่ใหญ่มากนัก เพราะมีโครงการที่อยู่ระหว่างการขายพอสมควร ขณะเดียวกันปีนี้ นอกจากจะเปิดเซกเม้นท์ใหม่ เป็นบ้านเดี่ยว 3 ชั้น ราคา 50-55 ล้านบาท และโฮมออฟฟิศ 5 ชั้น ราคา 70-80 ล้านบาทแล้ว

โครงการไฮไลท์สำคัญ ที่จะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 3 และคาดว่าจะเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ในวงการอสังหาฯ ยังจะเกิดขึ้นในโครงการร่วมทุนแห่งใหม่กับฮ่องกงแลนด์ “Lake Legend บางนา-สุวรรณภูมิ” ในรูปแบบบ้านริมทะเลสาบขนาด 100 ไร่ มูลค่ามากถึง 5.1 พันล้านบาท คาดจะได้รับการตอบรับดีของกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง


“โครงการนี้ เป็นโครงการสานต่อ Lake Legend แจ้งวัฒนะ ที่ขายได้ดี ในระดับราคามากกว่า 50- 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสะท้อนว่า ตลาดลักชัวรีของไทยยังไปได้ คอนเซ็ปต์คล้ายบ้านแถบเชิงเขาในสวิตเซอร์แลนด์ ให้อารมณ์เป็นบ้านพักตากอากาศชั้นดี และยังลงทุนอีกราว 80 ล้าน สำหรับการสร้าง
คลับเฮ้าส์ขนาดใหญ่”


ทั้งนี้ ทำเลสำคัญ ย่านแจ้งวัฒนะ โซนตะวันตก ซึ่งเป็นทำเลหลักในการพัฒนาโครงการ บริษัทก็ยังให้ความสำคัญ และคาดว่าในอนาคตยังคงมีโอกาสเติบโตสูงทางด้านดีมานด์ จะช่วยผลักดันยอดขายต่อเนื่องจากโครงการก่อนหน้า โดยศักยภาพของทำเล และการเดินทาง จับตา ความเปลี่ยนแปลงของทำเล หลังห้างโรบินสัน ราชพฤกษ์ มีกำหนดเปิดบริการปี 2565


หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564