จีนทะลัก ชิงบิ๊กโปรเจ็กต์ งบล่าช้า ซํ้าเติมรับเหมาไทย

07 ก.พ. 2563 | 02:40 น.

รับเหมาไทยเจอ 2 เด้งพิษทุนจีนทะลักเข้าไทย กวาดเรียบเมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน ผสมโรงไวรัสโคโรนา-งบปี 63 เบิกจ่ายช้า ดิ้นหนีตาย ขาดสภาพคล่อง สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯเผยหยุดงานไม่ได้ ดอกเบี้ยบานซํ้าร้ายงานน้อยไม่ตกถึงมือ คาดปี 64 ยิ่งหนัก

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เสียบบัตรแทนกันส่งผลให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้า ต้องรอผลวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะรู้ผลในไม่ช้านี้ อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ไม่สามารถเบิกจ่ายค่างวดงานได้ อีกทั้งกลุ่มทุนรายใหญ่จากจีน กวาดงานโครงการขนาดใหญ่รัฐไปหลายรายการ เมื่อเจอมรสุมไวรัสโคโรนาซํ้าเติมประเมินว่าผู้รับเหมาจีนจะหลั่งไหลเข้าประเทศ ชิงงานมากขึ้น นับจากนี้ประเมินว่าการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้รับเหมาไทยต้องการได้งานและการดัมพ์ราคาตํ่าๆ น่าจะเกิดขึ้น

นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ผู้รับเหมาไทยในขณะนี้ว่าจะเกิดการแข่งขันรุนแรงอีกครั้ง กรณีมีผู้รับเหมารายใหม่เข้าร่วมประมูลงานมากขึ้น เนื่องจากปริมาณงานภาคเอกชนอย่างคอนโดมิเนียมน้อยลง จากผลกระทบเศรษฐกิจ กำลังซื้อ จึงเบนเข็มเข้าร่วมประมูลงานรัฐมากขึ้น แนวโน้มอาจเกิดการแย่งชิงงานจนถึงขั้นเกิดภาวะฟันราคาค่างานตํ่าๆ อาจส่งผลตามมาหากไม่สามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้

 

จีนทะลัก  ชิงบิ๊กโปรเจ็กต์  งบล่าช้า ซํ้าเติมรับเหมาไทย

กฤษดา จันทร์จำรัสแสง

 

ต่อประเด็นนี้สมาคมอยากสะท้อนให้ผู้ว่าจ้างพิจารณาเกี่ยวกับเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างว่าควรคำนึงถึง ศักยภาพสายป่านผู้รับเหมามากกว่าการให้ราคาตํ่าสุดแล้วเป็นผู้ได้งานเท่านั้น

“ปัจจุบันมีงานก่อสร้างขนาดใหญ่ของหน่วยงานรัฐหลายงาน มีการทิ้งงานก่อสร้างไปแล้ว สร้างความเสียหายให้รัฐ จากการดัมพ์ราคาตํ่าๆ”

อีกปัญหาใหญ่งานภาคเอกชน ส่วนใหญ่เป็นของผู้รับเหมาจีนที่เข้ามาลงทุน โดยใช้ผู้รับเหมา คนงานจนถึงวัสดุมาจากประเทศจีน รวมถึงโครงการขนาดใหญ่ อาทิ ไฮสปีดเทรน ล้วนเป็นไปตามสเปกของจีนแม้แต่เหล็กเส้น โรงงานในไทยไม่สามารถขายได้ หรือวัสดุบางรายการสเปกของจีน ซึ่งโรงงานไทยไม่สามารถผลิตได้เช่นกัน ส่วนเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยียังไม่ได้กระทำ ที่สำคัญกลุ่มผู้รับเหมาเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีการจอยต์เวนเจอร์กับบริษัทคนไทย ซึ่งงานโครงการขนาดใหญ่ผู้รับเหมาจีนเข้ามาร่วมประมูลทั้งหมด และต่อไปสามารถเข้าประมูลงานระดับกลางถึงล่างได้

ทั้งนี้โดยลักษณะของผู้รับเหมาจีนจะสู้ทุกราคาและทำงานได้ทุกประเภท เป็นสิ่งที่น่ากลัวและอาจส่งผลให้ผู้รับเหมาไทยเกิดปัญหา ส่วนแนวทางแก้ปัญหานั้น ควรต้องไปพิจารณาที่การว่าจ้าง โดยงานที่ประมูลผู้ว่าจ้างทำงานเป็นผู้ออกแบบ คุมงานและตรวจรับทั้งกระบวนการ เมื่อเกิดปัญหาระหว่างทำงานผู้รับเหมาจะไม่กล้าท้วงติง จึงควรใช้คนกลางเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ด้วยการออกแบบ ทำราคากลาง ร่างทีโออาร์ คุมงานจนถึงการตรวจรับงาน บางส่วนควรใช้คนกลางที่มีความเชี่ยวชาญแทน เป็นต้น ส่วนนี้จะช่วยลดปัญหาการทุจริตลงได้อีกทางหนึ่ง

จีนทะลัก  ชิงบิ๊กโปรเจ็กต์  งบล่าช้า ซํ้าเติมรับเหมาไทย

 

นายกฤษดาสะท้อนภาพต่อว่า นอกจากบริษัทก่อสร้างได้รับผลกระทบแล้ว วัสดุก่อสร้างของไทย ต่างประสบปัญหาสินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาด เช่น เครื่องปรับอากาศ จนบางโรงงานประสบปัญหาต้องปิดโรงงานไป เป็นต้น บางครั้งภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาพิจารณาเช่นกัน

สำหรับปัญหาผู้รับเหมา ที่มีผลกระทบค่อนข้างหนักคืองานก่อสร้างที่อยู่ในส่วนงบประมาณปี 2563 ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่งบางโครงการมีการประมูลไปก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ ซึ่งงานลักษณะนี้ผู้ว่าจ้างสามารถให้ผู้รับเหมาทำงานและเขียนเงื่อนไขรายละเอียดไว้ก่อน เมื่องบประมาณเบิกจ่ายได้จึงทำเรื่องเบิกจ่าย แต่งานที่น่าเป็นห่วงคืองานที่เป็นงบผูกพัน ประมูลแล้ว เซ็นสัญญาแล้ว และอยู่ระหว่างก่อสร้างแยกจ่ายเงินเป็นรายปี ซึ่งเมื่อไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ผู้รับเหมาก็ไม่มีสิทธิ์หยุดทำงาน แม้ว่าสภาพคล่องเริ่มมีปัญหาก็ตาม เพราะเรื่องระยะเวลาการก่อสร้างจะเดินไปตามระยะเวลาของสัญญา ทำให้ผู้รับเหมาบางรายต้องกู้เงินจากธนาคารเพิ่มเพื่อใช้เป็นสภาพคล่อง ไม่มีกำหนดที่ชัดเจนว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้เมื่อใด ยิ่งทำให้ผู้รับเหมามีภาระอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ระหว่างนี้ทางสมาคมกำลังให้สมาชิกรวบรวมจำนวนโครงการ มูลค่าโครงการ และปริมาณงานที่ก่อสร้างคืบหน้ากี่เปอร์เซ็นต์ ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบปี 2563

“สิ่งที่น่าห่วงมากๆ นอกจากปีนี้แล้วแนวโน้มงานก่อสร้างปี 2564 นั้น ยังมองไม่เห็นความสดใส ยังไม่ทราบว่าจะมีงานก่อสร้างหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะเน้นมาลงทุนในปีนี้แล้ว โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ แม้จะเร่งให้ประมูลแต่ยังติดขัดเรื่องงบประมาณปี 2563 คาดว่าเมื่อผ่านสภาได้แล้ว การประมูลคงออกมามาก ช่วงนั้นคงจะเห็นการแข่งขันของผู้รับเหมามาก เพื่อต้องการให้ได้งาน และเมื่อเปิดประมูลหมดในปีนี้ งบปี 2564 ที่จะถึงก็ประมาณไม่ได้อีกว่าจะมีงานประมูลออกมาหรือไม่ คงจะทำให้ผู้รับเหมาไทยลำบากมากขึ้น” นายกฤษดากล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ระบุว่างบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างมาก อย่างไรก็ตาม สมาคมอยู่ระหว่างรวบรวมโครงการติดปัญหาย้อนหลัง ตั้งแต่ ปี 2561-ปัจจุบันว่ามีโครงการอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน ขณะโครงการใหม่ ไม่มีออกมาประมูล

อีกปัญหาที่บริษัทก่อสร้างไทยได้รับผลกระทบคือกลุ่มนักลงทุนจีนชิงงานประมูลไปหลายโครงการ ล้วนแต่ตัดราคาตํ่าๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด่วน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็นต้น

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,546 วันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2563