"วิลาศ" จ่อ ร้อง "ปปช.-สตง." สอบพิรุธ กก.ตรวจจ้างฯก่อสร้างรัฐสภา

07 ม.ค. 2564 | 08:21 น.

"วิลาศ" จ่อร้อง ป.ป.ช.- สตง." สอบ 10 ปมพิรุธ แฉ กรรมการตรวจจ้างก่อสร้างสภา เปิดดีลแลกอนุมัติลานประชาชน

7 มกราคม 2564 ที่รัฐสภา นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แถลงว่า ตนได้ตรวจสอบความคืบหน้า ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หลังจากที่คณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีมติไม่ขยายสัญญาก่อสร้างครั้งที่ 5  ปรากฏว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่นฯ จะต้องจ่ายค่าปรับให้รัฐสภาวันละ 12 ล้านบาท ซึ่งบริษัทชิโน-ไทยฯ ได้ยื่นหนังสือของด หรือลดค่าปรับ 150 วัน ตามเงื่อนหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)  เมื่อเดือนกันยายน 2559 ที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากแรงงาน หลังรัฐบาลมีการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แม้จะออกในปี 2559 แต่มีผลย้อนหลังให้ถึงแค่เดือนพฤศจิกายน ปี 2556 เท่านั้น ซึ่งตนไม่ได้ติดใจเพราะบริษัทมีสิทธิ์ยื่นตามระเบียบที่กำหนด แต่ขอฝากไปยังคณะกรรมการตรวจการจ้างฯว่า ต้องตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ตามระเบียบแบบแผน ซึ่งการขยายเวลาก่อสร้างถือว่าจบไปแล้ว ซึ่งหากจะขอลด หรืองดค่าปรับก็แปลว่า ไม่ต้องจ่าย ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

 

พร้อมยังแนะนำให้คณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ไปตรวจสอบรายงานประจำวัน หรือ Daily Report ของผู้รับจ้าง และผู้รับจ้างรายย่อยด้วยว่า  ได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ เพราะเห็นว่า การก่อสร้างที่ผ่านมายังเป็นไปตามปกติ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ผู้รับจ้างรายย่อย คือใคร พร้อมยังมั่นใจว่า ผู้รับจ้าง จะอ้างเหตุผลการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า หรือปัญหาการขึ้นค่าแรงมาอ้างไม่ได้ เพราะมีการขยายระยะเวลาการก่อสร้างมาแล้ว 4 ครั้ง

ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ตรวจสอบการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด เพราะมีข้าราชการ และวิศวกร ร้องเรียนมาให้ตนเองกว่า 10 เรื่อง ทั้งเรื่องการก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบ เช่น โคมไฟประดับนอกอาคาร ที่คณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ได้สั่งยกเลิก และห้องประชุมกรรมาธิการ 42 ห้อง และห้องทำงาน ส.ส.-ส.ว. จำนวน 213 ห้อง ที่ไม่ตรงตามแบบ แต่ทราบว่า เริ่มมีการแก้ไขไปบ้างแล้ว หรือแม้แต่พื้นไม้ ที่ตามแบบระบุเป็นไม้ตะเคียนทอง และแต่ละแผ่น จะต้องปูไม่เกินระหว่างแผ่นความกว้างไม่เกิน 2 มิลลิเมตรเท่านั้น มิเช่นนั้น รองเท้าส้นเข็มของสุภาพตรี จะไปติดกับพื้นไม้ รวมถึง ได้ถ่ายภาพ ถ่าย ไปให้ผู้จำหน่ายไม้ตรวจสอบ ว่าเป็นไม้ตะเคียนทองจริงหรือไม่ ซึ่งผู้จำหน่าย เห็นว่า บางแผ่นไม่ใช่ไม้ตะเคียนทอง ซึ่งถือว่า ผิดแบบ นายวิลาศ กล่าว 

นายวิลาศ กล่าวด้วยว่า  ตนยังได้รับข้อมูลอีกว่า ดินที่ใช้ถมลานประชาชน และถนนริมเขื่อนภายในรัฐสภา ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีความผิดปกติ เพราะมีหินและยางรถยนต์ปนอยู่ด้วย แต่คณะกรรมการตรวจการจ้างฯ กลับอนุมัติให้ดำเนินการ ผ่านการเจรจา เรียกเงินจากผู้รับจ้าง เพื่อดำเนินการ ดังนั้น ตนจำเป็นจะต้องร้องเอาผิดต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.)  และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  (สตง.)  ให้ตรวจสอบเพื่อเอาผิด เนื่องจากคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ไม่ดำเนินการตรวจสอบให้ตรงตามแบบที่กำหนด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"แรมโบ้"ฉะ"ธีรรัตน์"หลังออกมาไล่นายกฯ ลาออก

"หมอวรงค์" แฉ 4 ตัวละคร สมรู้ร่วมกันทุจริต ต้นเหตุศาลยกฟ้อง "จำนำข้าว"

“ธนกร”ตีกันฝ่ายค้านอย่าใช้ข้อมูลเท็จซักฟอกรัฐบาล