รู้จักพันธกิจบทบาทหน้าที่และอำนาจ นายกฯอบจ.สรุปที่นี่

20 ธ.ค. 2563 | 02:09 น.

พันธกิจบทบาท นายกฯอบจ.หน้าที่และอำนาจมีอะไรบ้าง สรุปที่นี่

วันนี้ (20 ธ.ค.) เป็นการเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ เลือกตั้ง อบจ. พร้อมกันทั่วประเทศ 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร  ซึ่งเป็นการเลือกตั้งในระดับเมืองท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับแต่ปีพ.ศ. 2557

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดหีบลงคะแนนแล้ววันนี้เลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศครั้งแรกในรอบ 7 ปี

จับคาหนังคาเขาซื้อเสียง “อบจ.นครปฐม”พร้อมเงินสด 3 หมื่นบาท

สธ.แนะ 5 มาตรการ เข้าคูหาเลือกตั้ง อบจ. ปลอดภัยจากโควิด-19

นายกฯเชิญชวนประชาชน ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค.นี้

สำหรับการเลือกตั้งอบจ. ครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้ชี้แจงถึงบทบาทและหน้าที่ของ อบจ. ว่า การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นการที่รัฐบาลกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเองภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและสนองตอบต่อความต้องการของชุมชนได้สะดวก รวดเร็ว และตรงกับความประสงค์ของชุมชนนั้น โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกในการทำหน้าที่แทนรัฐบาล การใช้อำนาจดังกล่าวจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ รวมทั้งก่อให้เกิดผลในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและท้องถิ่น ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ จะเป็นผู้กำหนดผู้แทนหรือตัวบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งผู้แทนจะต้องเป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครรับเลือกตั้งและได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่นนั้น

 

รู้จักพันธกิจบทบาทหน้าที่และอำนาจ นายกฯอบจ.สรุปที่นี่

 

 

องค์การบริหารส่วนจังหวัด

เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ มีจังหวัดละ 1 แห่ง มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด โครงสร้างการบริหารประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นฝ่ายบริหาร และสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ

หน้าที่และอำนาจ

 องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริการส่วนจังหวัด เช่น

1. ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย

2. จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริการส่วนจังหวัด และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

3. บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

4. จัดการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา รวมทั้งการจัดการหรือสนับสนุนการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก

5. ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนในการดูแลการจราจรและการรักษาความสงบเรียบร้อย

ฯลฯ

 

การกำกับดูแล

 ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ

 

การได้มาซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยมีที่มา ดังนี้

1. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

2. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ใช้เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่อำเภอใดมีสมาชิกเกิน 1 คน ให้แบ่งเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง เท่ากับจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะพึงมีในอำเภอนั้น และมีสมาชิกเขตเลือกตั้งละ 1 คน

 

องค์ประกอบของ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวนเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนนราษฎรของจังหวัดนั้น โดยกำหนดไว้ดังนี้

จำนวนราษฎร จำนวน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ไม่เกิน 500,000 คน 24 คน

เกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1 ล้านคน 30 คน

เกิน 1 ล้านคน แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านคน 36 คน

เกิน 1.5 ล้านคน แต่ไม่เกิน 2 ล้านคน 42 คน

เกิน 2 ล้านคนขึ้น 48 คน

 

วาระการดำรงตำแหน่ง

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

 มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปีก็ให้ถือว่าเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง

 

สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

อายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีกำหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง

 

หน้าที่และอำนาจของ นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัด

กำหนดนโยบายให้ไม่ขัดต่อกฎหมาย รับผิดชอบในการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ และนโยบาย สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด

 

โดยมีปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มอบหมาย