พลิกแฟ้มคดีฉาว โยง “สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ"

03 ธ.ค. 2563 | 21:05 น.

เปิดแฟ้มศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก "เจ้าหน้าที่รัฐ" ร่วมกับบุคคลอื่น คนละ 3 ปี ทุจริตปลอมแปลงเอกสาร สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พบชื่อ "สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ" มีเอี่ยว

จากกรณีที่นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (3 ธันวาคม 2563) ในหัวข้อ “ร.10 ทรงงานแบบเก็บเงียบ ด้วยนัยยะแห่งปัญหา อันซ่อนเร้น เกาะกิน จนฝั่งรากลึก แต่ถูกบางคนเอาไปบิดเบือนเพื่อหากิน” ได้ระบุถึง การปลอมแปลงเอกสารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ของเจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคคลภายนอก และมีการตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการจ่ายเงินของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง (นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) เพื่อให้ได้สิทธิเช่าพัฒนาที่ดิน บริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) จนเกิดกระแสวิพากวิจารณ์จากสังคมเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น  

 

จากการสืบค้นของ  “ฐานเศรษฐกิจ” คดีหมายเลขดําที่ อท 76 /2562 คดีหมายเลขแดงที่ อท 228/2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562  ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 4 เป็นโจทก์  ฟ้อง นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ จำเลยที่ 1 และ นายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช จำเลยที่ 2 ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

 

ศาลพิพากษา ทั้งสองให้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 143,264, 265,268 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/4 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรม ต่างกันให้เรียงกระทง ลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม รวมสองกระทง ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกัน ใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 จำคุกกระทงละ 2 ปี ฐานร่วมกันเป็นตัวกลางในการเรียกรับสินบนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 6 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี

 

ทั้งนี้ ในคำวินิจฉัยของศาล ชี้ถึงพฤติกรรมของจำเลยว่า ระหว่างกลางเดือนมีนาคม 2560 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2560 นายประสิทธิ์ (จำเลยที่ 1) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ระดับ บ.4 แผนโครงการธุรกิจ 1 กองโครงการธุรกิจ 1 ฝ่ายโครงการพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ทำหน้าที่สนับสนุนงานหลักของฝ่ายโครงการพิเศษ และนายประสิทธิ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ไปจัดประโยชน์แต่อย่างใด และนายสุรกิจ (จำเลยที่ 2) ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงาน ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ 

 

1.จำเลยทั้งสองร่วมกันทำเอกสารราชการของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ปลอมขึ้นทั้งฉบับ โดยนายประสิทธิ์ ทำเอกสารปลอมขึ้นซึ่งหนังสือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ ฝบอ.2000/0064 ลงวันที่ 18 กันยายน 2560 เรื่อง การพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ถึง นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบ.เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด  มีตราครุฑอันเป็นตราสัญลักษณ์ของหน่วยราชการตามระบบงานสารบรรณ ตั้งแท่นลงนามเป็นชื่อ นายสุรพล  เล็กเลิศผล ตำแหน่ง นักบริหารงานอสังหาฯ โดยนายประสิทธิ์ ลงนามแทนด้วยการปลอมลายมือชื่อนายสุรพล โดยเอกสารฉบับดังกล่าวมีข้อความสรุปได้ว่า 

 

บริษัท เรียลแอสเสทฯ ได้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทุนในเบื้องต้นแล้ว สนง.ทรัพย์สินฯ จึงขอให้ยื่นแผนการพัฒนาพื้นที่และการลงทุนภายใน 90 วัน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"กรรม" ไล่ล่า "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" 

"ธนาธร"โผล่กลางม็อบประกาศเคียงข้างนศ.-ประชาชน"

จัดหนัก "สนธิญา" แจ้ง ตร.เอาผิด "ธนาธร"

 

จากนั้นจึงให้นายสุรกิจ จำเลยที่ 2 นำไปแสดงต่อ นายสกุลธร เพื่อให้หลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริงว่า บริษัท เรียลแอสเสทฯ ได้ผ่านการพิจารณาของผู้ลงทุนในเบื้องต้นแล้ว และขอให้ยื่นแผนการพัฒนาพื้นที่และการลงทุนดังกล่าว

2.นอกจากนี้จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำเอกสารของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ปลอมขึ้นทั้งฉบับ โดยนายประสิทธิ์ ทำปลอมซึ่งหนังสือ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ ฝบอ.2000/002  ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เรื่อง การพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ถึง นายสกุลธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลแอสเสทฯ แจ้งเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับแผนการพัฒนาที่ดิน บริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 โดยนายประสิทธิ์ ลงลายมือชื่อ ในตำแหน่ง นักบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่มีอำนาจและมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายงานบริหารงานอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด 

 

หนังสือดังกล่าวมิได้ออกโดยฝ่ายบริหารงานอสังหาฯ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลจัดประโยชน์อสังหาฯของ สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รวมถึงพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) เนื่องจากเลขหนังสือที่ถูกต้องจะต้องขึ้นต้นด้วย ฝอท.1000 นอกจากนี้หมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏในหนังสือฉบับนี้ก็เป็นหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานฝ่ายโครงการพิเศษ ที่นายประสิทธิ์ ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่ใช่หมายเลขโทรศัพท์ของฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ขณะที่ตำแหน่งนักบริหารงานอสังหาฯที่กล่าวอ้างก็ไม่มีอยู่ในสนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

 

3.จำเลยทั้งสองร่วมกันนำข้อมูลของ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์(ชื่อเดิม) ไปแจ้งต่อ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่า ที่ดินดังกล่าวกำลังจะหมดสัญญาเช่าและจะเปิดให้ผู้สนใจมาลงทุนพัฒนาที่ดิน โดยจะมีการทำสัญญาเช่ากับ สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ระยะยาว นายสกุลธร จึงเชื่อว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวให้เช่าจริงจึงให้นายสุรกิจ จำเลยที่ 2 ดำเนินการติดต่อประสานงานและอำนวยความสะดวกให้บริษัท เรียลแอสเสทฯ ได้สิทธิการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าว โดยมีค่าตอบแทน 500 ล้านบาท 

 

จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันแบ่งหน้าที่กันทำ โดย นายประสิทธิ์ จำเลยที่ 1 แนะนำให้ นายสกุลธร ยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวต่อ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตามช่องทางปกติ นายประสิทธิ์ และนายสุรกิจ ได้ร่วมกันเรียกรับเงินงวดแรก จำนวน 5 ล้านบาท จากนายสกุลธร และร่วมกันใช้เอกสารราชการที่ทั้งสองทำปลอมขึ้น 2 ฉบับ อ้างต่อนายสกุลธร ที่หลงเชื่อว่า เป็นเอกสารจริง เมื่อนายสกุลธรได้หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงจ่ายเงินงวดที่สอง จำนวน 5 ล้านบาท และงวดที่ 3 อีก 10 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาทให้กับจำเลยทั้งสองเพื่อเป็นการตอบแทนที่ไปร่วมกันดำเนินการประสานงานให้ 

 

และนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้ “รองผู้อำนวยการสนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ที่เป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐ เพื่อจูงใจ “รองผอ.สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ให้จัดสรรที่ดินแปลงดังกล่าวให้ บริษัท เรียลแอสเสทฯ ได้สิทธิการเช่าที่ระยะยาว โดยไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติ