รู้จัก “ไอลอว์” รู้จัก “จอน อึ๊งภากรณ์”

18 พ.ย. 2563 | 07:43 น.

 

ใน การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่าง วันที่ 17-18 พ.ย. 2563 นั้น แสงสปอตไลท์สาดจับที่การอภิปราย ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือร่างฯฉบับที่ 7 เจิดจ้าเป็นพิเศษ โดยร่างดังกล่าวมีประชาชนลงนามสนับสนุนนับแสนคนและนำเสนอผ่านทาง โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) แม้จะถูกตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับการรับเงินทุนสนับสนุนจากต่างชาติและเจตนารมย์ของการนำเสนอร่างแก้ไขรธน.ครั้งนี้ แต่ “จอน อึ๊งภากรณ์” ในฐานะ ผู้อำนวยการไอลอว์ และเป็นผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยืนยันว่า “ต่อให้เราพูดว่า เราเจตนาดีแค่ไหน ถ้าเขาไม่เชื่อก็คงไม่เชื่อ จริงๆแล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ การกล่าวหาเจตนาของไอลอว์เป็นการบิดเบือนประเด็น”

จอน อึ๊งภากรณ์ (ขอบคุณภาพจากเว็บประชาไท)

จอน อึ๊งภากรณ์ ซึ่งคร่ำหวอดกับงานเอ็นจีโอเพื่อสังคม รวมทั้งแวดวงสื่อสารมวลชน ท้าทายว่า ถ้าใครยังสงสัยและอยากจะรู้เรื่องไอลอว์ ให้มาติดต่อได้เลย เขาพร้อมเปิดเผยทั้งรายรับจ่าย รวมทั้งแหล่งเงินทุน ซึ่งปัจจุบันก็มีการเผยแพร่ไว้ชัดเจนในเว็บไซต์ขององค์กร (http://ilaw.or.th) ที่ระบุว่า ระหว่างปีพ.ศ. 2552 ถึง 2557 ไอลอว์รับการสนับสนุนทุนจากมูลนิธิโอเพ่น โซไซตี้ (Open Society Foundation) และมูลนิธิไฮน์ริช เบิร์ล (Heinrich Böll Stiftung) และได้รับเงินสนับสนุนหนึ่งครั้งจากบริษัท กูเกิล ( Google)

 

และตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ไอลอว์ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. Open Society Foundation (OSF)

2. Heinrich Böll Stiftung (HBF)

3. National Endowment for Democracy (NED)

4. Fund for Global Human Rights (FGHR)

5. American Jewish World Servic (AJWS)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้ ยังได้รับเงินสนับสนุนเป็นรายครั้งจากบริษัท กูเกิล และผู้สนับสนุนอิสระ

รู้จัก “ไอลอว์” รู้จัก “จอน อึ๊งภากรณ์”

“เรายินดีให้ข้อมูลและทั้งหมดนี้ก็อ่านได้จากเว็บไซต์  ไอลอว์ตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี เราทำงานตามหลักวิชาการทุกเรื่อง เราเห็นว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่แสดงความเห็นได้ เราไม่อาจกำหนดได้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะไปห้ามประชาชนแก้ข้อนั้นข้อนี้ได้ เราไม่อาจทำตัวใหญ่กว่าประชาชนได้ ที่สำคัญ ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไม่เหมือนกับคนรุ่นใหม่ในอดีต เป็นผลพวงแห่งเหตุการณ์หลายอย่างที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ หากรัฐสภาไม่ทำความรู้จักกับคนรุ่นใหม่จะไม่มีทางแก้วิกฤติได้ ผมเสนอว่าควรเชิญคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องประชาธิปไตยมานั่งคุยกับพวกท่าน ท่านอาจจะมองเขาในแง่ดีและเข้าใจมากขึ้น ท่านอาจเจอหลานของท่านมาคุยกับท่านก็ได้" จอนกล่าวสรุปการอภิปรายในรัฐสภา

 

ทั้งนี้ ไอลอว์ (iLaw) ก่อตั้งเมื่อปี 2552 เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานกับภาคประชาสังคมและคนทั่วไปในสังคม มีเป้าหมายเพื่อไปให้ถึงหลักการประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และระบบยุติธรรมไทยที่เป็นธรรมและตรวจสอบได้กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในปี 2557

 

หลักการทำงานกับแหล่งทุน คือ ไอลอว์จะพิจารณาแหล่งทุนที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกันกับเป้าหมายขององค์กร ไม่ได้จำกัดว่าต้องมาจากประเทศใด ถ้ามีแหล่งทุนในประเทศที่วัตถุประสงค์ตรงกันก็จะทำงานด้วยเช่นกัน โดยทางไอลอว์เป็นผู้ร่างโครงการที่ต้องการทำงานในแต่ละปี และกิจกรรมทั้งหมด ทางองค์กรจะเป็นผู้ริเริ่มเสนอและเป็นผู้ออกแบบ โดยกิจกรรมที่ทำไม่มีผลต่อปริมาณเงินที่ได้รับ และแหล่งทุนไม่มีส่วนในการกำหนดรูปแบบและวัตถุประสงค์ของกิจกรรม

 

“เราไม่ได้คิดว่าไอลอว์จะเป็นศูนย์กลางของการอภิปราย การอภิปรายโจมตีนั้นกระทำง่าย แต่พิสูจน์ได้ยาก ต่อให้เราพูดว่าเราเจตนาดีแค่ไหน ถ้าเขาไม่เชื่อก็คงไม่เชื่อ”

เรื่องแบบนี้ คงต้องพิสูจน์กันยาว ๆ

 

ส่วน ประวัติของ “จอน อึ๊งภากรณ์” นั้น เขาเกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2490 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นบุตรชายคนโตของศาสตราจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และนางมากาเร็ต สมิธ

 

จอนจบการศึกษาด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ (Sussex) ที่อังกฤษ แต่กลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย โดยเข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเวลา 5 ปี แต่จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วง พ.ศ. 2516–19 ทำให้เขาหันมาสนใจประเด็นปัญหาทางสังคม

 

ในพ.ศ. 2523 จอน อึ๊งภากรณ์ได้ก่อตั้งโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม ซึ่งต่อมาภายหลังได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เพื่อสร้างบัณฑิตอาสาสมัครให้ช่วยเหลือคนยากจนในชนบท และทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) จอนยังมีส่วนช่วยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งขึ้นใหม่ ให้มีการบริหารจัดการที่ดี และช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับโครงการต่าง ๆ และมีส่วนในการประสานภาคประชาสังคมเข้าด้วยกัน

 

ต่อมา พ.ศ. 2534 จอนได้ก่อตั้งมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ริเริ่มการให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และครอบครัวของผู้ป่วยเหล่านั้น เพื่อต่อสู้เรื่องปัญหาการรังเกียจและเข้าใจผู้ป่วยเหล่านี้ผิด และพยายามให้ความรู้ในเรื่องสิทธิผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

 

เส้นทางด้านการเมืองของเขาเริ่มต้นในปีพ.ศ. 2543 เมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร แม้ว่าในขณะนั้นจอนยังเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั่วไปไม่มากนัก เส้นทางนี้ทำให้จอนมีโอกาสในการสร้างความเข้าใจกับสังคมและมีโอกาสในการทำงานเพื่อสังคมได้มากขึ้น จอน อึ๊งภากรณ์ ได้เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ของวุฒิสภา และเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการหลักประกันทางสังคม ของวุฒิสภาด้วย

 

ต่อมาในปีพ.ศ. 2547 จอนกับกลุ่มเพื่อน ร่วมกันก่อตั้งหนังสือพิมพ์ออนไลน์อิสระ ชื่อ “ประชาไท” เขายังเป็นที่ปรึกษาศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (เว็บไซด์ http://freedom.ilaw.or.th/) เป็นอดีตกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยด้านประชาสังคม และอดีตบอร์ดของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

จอน อึ๊งภากรณ์ ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ ประจำปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) จากการประกาศเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548 และเข้ารับรางวัลที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 31 สิงหาคมปีเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าจอนได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาเดียวกันกับศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เป็นบิดา ซึ่งได้รับรางวัลนี้เมื่อ พ.ศ. 2508