ครม.อนุมัติงบ 1,000 ล้าน หนุนผลิตวัคซีนโควิด-19

25 ส.ค. 2563 | 07:57 น.

รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.อนุมัติงบกลาง จำนวน 1,000 ล้าน สนับสนุนผลิตวัคซีนโควิด-19

25 สิงหาคม 2563 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,000 ล้านบาทในลักษณะเงินอุดหนุนให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเพื่อสนับสนุนหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนให้ พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 และการสร้างขีดความสามารถของประเทศโดยการพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังพบอยู่ในหลาย ประเทศทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 24 ส.ค.2563 มีผู้ป่วยยืนยันกว่า 23.44 ล้านคน เสียชีวิต 800,000 คน ทั้งนี้ โรคโควิด-19 เริ่มแพร่เข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2563 มีผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

สธ. มั่นใจโลกผลิต"วัคซีนต้านโควิด"สำเร็จไม่เกิน 6 เดือนนี้ 

“อนุทิน”ชงครม.ของบฯ 600 ล้าน ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด

ลุ้นต่อ ครม.ยังไม่เคาะงบ 600 ล้าน พัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19

"อนุทิน"ลุ้นวัคซีนโควิด-19 รัสเซียได้ผล

 

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้สรุปประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี2563 ที่-5.3% และสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 5,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1.11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ภาคธุรกิจประสบปัญหาจนต้องปิดกิจการ และลดจำนวนพนักงาน ส่งผลให้มีประชาชนชั้นกลางและประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนมากได้รับผลกระทบ ต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิต

 

แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมป้องกันโรคได้อย่าง ดียิ่ง แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดการระบาดของโรคได้ในระลอกที่ 2 เนื่องด้วยยังมีผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลก หากสถานการณ์การระบาดไม่สามารถยุติได้ในระยะเวลาอันใกล้ การเปิดประเทศเพื่อเดินหน้าสู่การดำเนินชีวิต New Normal คู่ขนานไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงเป็นไปได้ยาก และรัฐบาลยังจำเป็นต้องมีมาตรการ ช่วยเหลือ เพื่อประคองกิจการต่าง ๆ ในประเทศให้สามารถตาเนินการต่อไปได้

 

ดังนั้น วัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นนวัตกรรมทางสุขภาพและเป็นยุทธปัจจัยที่มีประสิทธิภาพสูงที่จะเป็นคำตอบ ในการป้องกันควบคุมโรค และเป็นความหวังของทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย การเร่งรัดให้มีวัคซีนใช้ในประเทศเร็วขึ้นจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกกับเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นของ ประชาชนต่อการกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

 

สำหรับแผน Blueprint เพื่อการเข้าถึงวัดซีนป้องกันโควิด-19 ของประชาชนไทย ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเมื่อ 22 เม.ย.2563 ซึ่งถือเป็นกรอบนโยบายในการบูรณาการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ การนำวัคซีนต้นแบบที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาทดสอบ ในประเทศไทย และขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น และระยะกลาง และอีกแนวทางคือ การพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะกลาง และระยะยาว ในการบรรลุ เป้าหมายการเข้าถึงวัคซีนให้ทันท่วงที และสร้างขีดความสามารถของประเทศในการพัฒนาและผลิตวัคซีน เพื่อให้ประชาชนไทยได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด

 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ให้การสนับสนุนและสร้างความ ร่วมมือกับสถาบันวิจัยพัฒนา และหน่วยผลิตวัคซีนในประเทศ ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อส่งเสริมการผลิตวัคซีนใช้ได้เองในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ

 

นอกจากนี้ยังได้เจรจาสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทั้งจากประเทศจีน และ ยุโรป ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตที่มีแนวโน้มจะได้วัคซีนมาใช้ภายในต้นปี 2564 มีความเป็นไปได้ในทางเลือกที่รัฐบาลควรลงทุน เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวข้าม สถานการณ์การระบาดได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากการมีวัคซีนใช้เร็วขึ้น 1 เดือน จะช่วยให้ประเทศสามารถ สร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณ 250,000 ล้านบาท และยังสร้างผลกระทบเชิงบวก ทางเศรษฐกิจ รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนไทยด้วย