ถอดรหัส คดี "บอส อยู่วิทยา" น่าสงสัย “โคเคน” มาจากไหน

04 ส.ค. 2563 | 20:00 น.

รายงานพิเศษ : ถอดรหัส คดี "บอส อยู่วิทยา" น่าสงสัย “โคเคน” มาจากไหน

เมื่อวันที่ 4 ส.ค.63 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด มีการแถลงข่าวผลการตรวจสอบ การสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส อยู่วิทยา" ที่มีนายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ หลังใช้เวลาตรวจสอบคดีดังกล่าวเป็นเวลา 1 สัปดาห์  

ถอดรหัส คดี "บอส อยู่วิทยา" น่าสงสัย “โคเคน” มาจากไหน

โดยหนึ่งในประเด็นที่ คณะทำงานฯเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีคือ "คดียาเสพติด"  จากการตรวจพบ “โคเคน” ในร่างกาย 

 

นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ในฐานะคณะทำงานระบุว่า ประเด็นยาเสพติด  มีคำถามว่านายวรยุทธมีการเสพยาเสพติด มีการเมาสุราในขณะขับรถหรือไม่ เป็นปัญหาความเห็นที่ต้องใช้คำว่าไม่สมบูรณ์

 

เรื่องนี้เหตุเกิดประมาณตีห้า แต่พนักงานสอบสวนสามารถนำตัวนายวรยุทธไปเจาะเลือดได้ในเวลา 16.00 น. ซึ่งมีระยะเวลาที่ห่างกัน ผลของการเจาะเลือดในเวลา 16.00 น.ได้ผลว่ามีแอลกอฮอล์ในเลือด  69 มิลลิกรัมเปอร์เซ็น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ACTชงนายกฯเอาผิดจนท.คดี“บอส อยู่วิทยา”มิให้เป็นเยี่ยงอย่าง

ส่ง อัยการสูงสุด รื้อคดี "บอส อยู่วิทยา" ข้อหาเสพโคเคน-ขับรถเร็ว

ถอดรหัสคดี "บอส อยู่วิทยา" พิลึก! รายงานความเร็ว หายจากสำนวน

เปิดผลสอบคดี "บอส อยู่วิทยา" อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่

จับพิรุธ “อัยการ” ชักเข้าชักออก คดี “บอส อยู่วิทยา”

 

"พนักงานสอบผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ท่านให้ความเห็นว่า 69 มิลลิกรัม เมาแน่นอน"

จากการคำนวณอัตราการลดลงตามเปอร์เซ็นของแอลกอฮอล์ในเลือดเวลาที่ผ่านไป ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าแอลกอฮอล์จะลดลงทุกๆ 15% ต่อ 1 ชั่วโมง จากการพิจารณาเวลาย้อนกลับไปถ้ามีการดื่มสุราและมีแอลกอฮอล์ในเลือดประมาณตีห้าขณะเกิดเหตุน่าจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 389 มิลลิกรัม

นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา

"ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นเลยว่าถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมากขนาดนั้น จะไม่มีสติสัมปชัญญะไม่มีทางขับรถได้แน่นอน ซึ่งย้ำอีกครั้งว่าความเห็นในเรื่องนี้ในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเราเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ แต่ผมเรียนว่าไม่ใช่ไม่อยู่ในอาการเมาขณะเกิดเหตุ"

 

นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ส่วนยาเสพติดนั้นมีการเจาะเลือดไปตรวจพร้อมกับแอลกอฮอล์ในเลือด สิ่งที่พบในเลือดนั้นเราพบสารหลายตัว แต่ที่น่าสนใจมีสองตัว คือ "เบนซอยเลโคนีน" และ "โคคาเอชเชอลีน"

 

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า เบนซอยเลโคนีน ไม่ใช่ยาเสพติด แต่เมื่อพบสารนี้ในร่างกายทำปฏิกิริยากับโคเคน ถ้าพบสารนี้ในเลือด ถือว่าร่างกายได้รับโคเคน  ส่วนโคคาเอชเชอลีน สารนี้ก็ไม่ใช่ยาเสพติด แต่จะพบสารนี้ถ้าเสพโคเคนพร้อมกับแอลกอฮอล์  

 

"ดังนั้นข้อเท็จจริงนี้ที่ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหมอให้ความเห็นว่าถ้าเป็นโคเคนคือยาเสพติดประเภท 2 แต่ถ้าสารสองตัวนี้ต้องให้ความเห็นว่าไม่ใช่ยาเสพติด อย่างไรก็ดีพนักงานสอบสวนก็ได้สอบสวนผู้เชี่ยวชาญต่อไปว่า การพบสารประเภทนี้สามารถยืนยันได้ถึงการเสพโคเคนหรือไม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการพบสารสองตัวนี้ยืนยัน 100% ไม่ได้ ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า "ผลบวกลวง" ถ้าการตรวจเลือดนั้นเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่เก็บ หรือสารบางประเภทถ้าเสพยาแก้ปวดยาหรือยาปฏิชีวนะ ที่เรียกว่า แอมม็อกซี่ ก็อาจจะให้ผลพบสารดังกล่าวได้

พนักงานสอบสวนขณะนั้นไปสอบต่อมีทันตแพทย์ภายหลังยืนยันว่าก่อนที่จะมีการเจาะเลือด ได้ให้ยาแอมม็อกซี่กับนายวรยุทธในขณะที่ไปรักษาฟัน จึงเป็นที่มาว่าทำไมเจ้าของสำนวนหรือพนักงานสอบสวนจึงไม่ได้ดำเนินคดีในข้อหายาเสพติด แต่คณะทำงานเราไม่เห็นด้วย เราเห็นว่าเรื่องนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนว่าเกิดขึ้นจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือจากการเสพโคเคน

 

เราพบว่าในกรณีของการสอบสวนเรื่องนี้ การเจาะเลือดของพนักงานสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญจาก 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วกลับมาเหลือ 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยไม่ได้ลงไปสอบสวนเพิ่มทำ แต่ไม่โทษพนักงานสอบสวนฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่เราพูดกันมานานแล้วว่าควรจะได้มาดูด้วยกันหรือไม่

 

"จึงเป็นประเด็นที่พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนควรจะได้ร่วมกันเข้าไปสอบสวนเรื่องนี้อย่างทันท่วงที ถ้าเรื่องนี้มีการเจาะเลือดทันทีที่้เกิดเหตุความเห็นในความผิดอาจจะเปลี่ยนแปลงไป"

 

ด้าน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี ระบุว่า คดีที่เคยสั่งไม่ฟ้องแล้วกลับมาดำเนินคดีใหม่ก็เคยมีในอดีต เพราะคดียังไม่สิ้นสุดและยังไม่หมดอายุความ อย่างเช่นคดีเพชรซาอุ ที่อัยการเคยมีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว แต่ต่อมามีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษไปพบแหวนของผู้ตายอยู่ในโรงแรมที่เป็นเซฟเฮ๊าส์จึงหยิบขึ้นมาฟ้องใหม่ เป็นเรื่องปกติของการสอบสวน

 

"มีหลายคนไปพูดว่าคดีนี้จบแล้ว ซึ่งยืนยันว่ายังตราบใดที่ยังไม่หมดอายุความขอเรียนว่ายัง เพราะสามารถนำพยานหลักฐานใหม่มาพิจารณาได้ นี่คือกระบวนการที่เราจะเดินต่อไป"