“ดร.กนก” ชี้ จุดอ่อน “งบปี 64”

03 ก.ค. 2563 | 04:01 น.

“ดร.กนก” ชี้ จุดอ่อน “งบปี 64” เผย ระบบสภาอ่อนแอ ชี้ ตั้ง กมธ. เน้นแต่ตรวจสอบการทุจริต ไม่ได้พิจารณาความคุ้มค่าของงบประมาณ แนะ ต้องแก้ระบบให้มีกระบวนการติดตาม- ประเมินผลการใช้งบรายกระทรวงเพื่อให้งบประมาณถึงประชาชนและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

การพิจารณางบปี 64 ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายในขั้นรับหลักการในวาระแรกกันแล้วในวันนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุด ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงภาพรวมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในวาระ 1 ว่า ตนได้อภิปราย พยายามชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบบสภาฯ เพราะเมื่อผ่านวาระที่ 1 ไปมีการตั้ง กรรมาธิการฯ ขึ้นมา ก็ยังไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเพราะกรรมาธิการฯเน้นแต่ตรวจสอบการทุจริตไม่ได้พิจารณาถึงความคุ้มค่าของงบประมาณ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผ่างบปี 64 ยุทธศาสตร์ชาติด้านไหน "รุ่ง-ร่วง"

เปิด "งบ 64" รายกระทรวง ที่ไหนถูกตัด ที่ไหนได้เพิ่ม

เปิดไส้ใน "งบกลาง 64" โปะเยียวยา-จ่ายฉุกเฉิน 1.4 แสนล้าน

ต้องมีการแก้ไขระบบให้มีกระบวนการติดตาม และประเมินผลการใช้งบประมาณของกระทรวงต่างๆ เพื่อให้งบประมาณถึงประชาชน รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการประเมินโดยคนนอก ก่อนส่งมาให้กรรมาธิการฯ เพื่อจะได้นำมาแก้ไข เพื่อเป็นข้อมูลให้การพิจารณางบปีต่อๆ ไป ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

"ถ้านำงบประมาณไปใช้แต่ไม่สามารถติดตามได้ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า งบเหล่านั้นถึงประชาชนอย่างแท้จริง แต่ที่สำคัญรัฐบาลต้องยอมรับในปัญหานี้ให้ได้ก่อน แล้วปัญหาจะถูกนำมาแก้ไข เพราะการใช้งบประมาณเป็นล้านล้านบาทต่อไป แต่ปัญหาของประชาชนหลายเรื่องกลับไม่ได้รับการแก้ไข ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนยังไม่ดีขึ้น ต่อให้ผ่านไปกี่ปีก็ยังไม่ดีขึ้น ดังนั้น เราต้องเริ่มแก้ปัญหาจากฐานรากของมันให้ได้ก่อน"

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ท่านนี้ ยังกล่าวอีกว่า ตนขอยกตัวอย่างที่ได้รับเสียงสะท้อนมาจากประชาชน เพราะตอนนี้มีประชาชนหลายพื้นที่อยากได้น้ำ อยากได้ที่ดินทำกิน แต่ข้าราชการในพื้นที่กับมองว่า ควรนำงบประมาณไปให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะคิดว่าหากประชาชนมีความรู้มากขึ้น จะได้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า ภาครัฐขาดการตรวจสอบมากแค่ไหน

"ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณมากกว่านี้ และ ส.ส. ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดเพราะถือเป็นตัวแทนของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญกับกีดกันไม่ให้เกี่ยวข้องกับงบประมาณเพราะกลัว ส.ส.มาหาผลประโยชน์กับงบประมาณแต่ตรงข้ามกับข้าราชการที่เป็นคนนำงบประมาณลงไปในพื้นที่ แต่บางครั้งก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะไม่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ผมไม่ได้คัดค้าน แต่อยากให้งบประมาณตอบโจทย์ประชาชนเท่านั้น"