“ทัพเรือ”เดือด! หากคืนสิทธิซีพีปมอู่ตะเภาสร้างค่านิยมใหม่-ทำผิดกฎได้

07 พ.ย. 2562 | 10:06 น.

 

ทร.เดือด! แจงศาลปกครองสูงสุดหากคืนสิทธิซีพีเข้าประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ทำลายระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  สร้างค่านิยมใหม่ ทำผิดกฎได้ ถ้าให้ผลตอบแทนสูง เชื่อซีพีพลาด เหตุมัวเปลี่ยนรายละเอียดข้อเสนอหลังส่งคนสอดแนมข้อเสนอคู่ต่อสู้ ร้องปธ.ศาลปกครองสูงสุดนำเรื่องเข้าที่ประชุมใหญ่ชี้ขาด ด้าน “ตุลาการผู้แถลงคดี”เสนอองค์คณะกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เป็นคืนสิทธิ  เหตุกระบวนตรวจรับเอกสารไม่ชัดเจน 

วันนี้(7 พ.ย.62) ศาลปกครองสูงสุดได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่ บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพี กับพวก รวม 5 ราย ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก กรณีมีมติไม่รับซองข้อเสนอด้านแผนธุรกิจ และด้านราคาในการยื่นข้อเสนอประมูลก่อสร้างโครงการดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก มายื่นเกินเวลาที่กำหนด 
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาให้ยกฟ้อง

ต่อมาบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ รับพิจารณาข้อเสนอด้านแผนธุรกิจและด้านราคาของ บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

การออกนั่งพิจารณาครั้งนี้ องค์คณะระบุว่าเป็นการพิจารณาคดีแบบเร่งด่วนตามนโยบายของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีสำคัญซึ่งศาลอ่านข้อเท็จจริงของคดีให้คู่กรณีทราบและเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้แถลงสรุปปิดคดีเพิ่มเติมจากที่ได้แถลงเป็นเอกสารมาก่อนแล้ว 

น.ส.ปะราลี  เตชะจงจินตนา   ผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด แถลงย้ำว่า สถานที่ยื่นข้อเสนอที่มีการกำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชนของโครงการนี้ หรือ (RFP) ระบุชัดเจนว่าเป็นห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ(ทร.) ไม่ใช่จุดลงทะเบียน ตามที่มีการนำมาอ้างและตัดสิทธิการยื่นข้อเสนอ ซึ่งโครงการนี้มีผู้ร่วมยื่นซองจำนวนมาก จึงมีการทยอยนำเอกสารมาทุกราย ซึ่ง ณ เวลา 16.45 น. ที่บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ได้เข้ายื่นเอกสารต่อคณะกรรมการคัดเลือกนั้น มีเอกสารครบถ้วนทุกรายการ และคณะกรรมการได้ตรวจรับไว้ทั้งหมด

คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีหน้าที่ตั้องพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด  และหากศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกที่ตัดสิทธิบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ตรงกันข้ามจะทำให้รัฐได้รับประโยชน์สูงสุด  ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกสามารถพิจารณาข้อเสนอของเอกชนทุกรายได้อย่าครบถ้วน สมกับเจตนารมณ์ในการเปิดประมูลครั้งนี้

                                              “ทัพเรือ”เดือด! หากคืนสิทธิซีพีปมอู่ตะเภาสร้างค่านิยมใหม่-ทำผิดกฎได้

 

 

ด้าน พล.ร.ต.เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก  แถลงแย้งว่า จุดลงทะเบียนบริเวณห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ ถือเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ยื่นข้อเสนอที่คณะกรรมการคัดเลือกกำหนด และคณะกรรมการได้ยึดถือในเรื่องเวลาเป็นสำคัญ โดยมีการกำหนดใน RFP ว่า เวลายื่นข้อเสนอคือ 09.00 -15.00 น. หากมายื่นหลังเวลา 15.00 น.จะไม่รับพิจารณา เพื่อปิดช่องไม่ให้มีการใช้ดุลยพินิจเรื่องขยายเวลา และผู้ที่ปฏิบัติในสถานที่ดังกล่าวล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจใด

หากมีการดำเนินการนอกจากหลักเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้นการที่บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก อ้างว่าเจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติผิดพลาด เพื่อให้บริษัทตนเองได้มีสิทธิยื่นเอกสารประมูลครบถ้วนถือว่าไม่ถูกต้อง

บริษัทธนโฮลดิ้ง เป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับบริษัทที่ได้สัมปทานโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เพิ่งลงนามกันไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งในการดำเนินการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ก็ใช้หลักการและระเบียบวิธีการเดียวกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงดังกล่าว โดยมีเงื่อนเวลาเป็นหลักสำคัญ ซึ่งทางกลุ่มผู้ฟ้องก็ปฏิบัติได้ แต่มีข้อสังเกตว่าทำไมในโครงนี้ถึงทำไม่ได้ การจะอ้างเรื่องจราจรติดขัด ถามว่าทำไมบริษัทที่เข้าร่วมประมูลอื่นจึงทำได้ 


รวมทั้งยังมีข้อน่าสังสัยว่า เมื่อมาถึงจุดลงทะเบียนแล้วจริง ทุกบริษัทเอกสารไม่พร้อม แต่ก็ทยอยนำมาถึงสถานที่ยื่นข้อเสนอในเวลาถัดมาครบทั้ง 9 กล่อง มีแต่ของบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัดกับพวก ที่มีการทยอยนำมาถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 มาแค่ 7 กล่อง อีก 2 กลุ่มที่เหลือคือแผนธุรกิจ และข้อเสนอด้านราคา มาทีหลัง เป็นเพราะการมารอบแรกและรอบสองก็เพื่อมาประเมินคู่ต่อสู้ว่ายื่นราคาเท่าไร เพื่อที่ตัวเองจะได้แก้ไขเอกสาร แต่ปรากว่าเกิดปัญหาจราจรเลยทำให้เอกสารมาถึงจุดลงทะเบียนเกินเวลา 15.00 น. โดยมาถึงในเวลา 15.09 น. 

 

                                    “ทัพเรือ”เดือด! หากคืนสิทธิซีพีปมอู่ตะเภาสร้างค่านิยมใหม่-ทำผิดกฎได้

“ถ้าศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าเรื่องเวลาไม่ใช่สาระสำคัญ ทั้งที่ก่อนก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดก็เคยวินิจฉัยในคดีการประมูลก่อสร้างทางหลวงชนบท โดยตัดสิทธิผู้เข้าประมูลที่มายื่นซองช้าหลังกำหนดปิดรับซองไป 39 วินาที โดยกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในดคีนี้ ให้บริษัทธนโฮลดิ้งได้สิทธิเข้าประมูล เท่ากับเป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  และอาจทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่าต่อไปใครจะมายื่นซองเวลาไหนก็ได้หากให้ผลตอบแทนกับรัฐสูง  รวมทั้งอาจเกิดค่านิยมใหม่ ว่าแม้ทำผิดกฎ แต่มีเงินจ้างทนายเก่ง และให้ประโยชน์รัฐมาก ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้งาน เพราะเงินชดเชยความผิดได้” 

“ทัพเรือ”เดือด! หากคืนสิทธิซีพีปมอู่ตะเภาสร้างค่านิยมใหม่-ทำผิดกฎได้

พล.ร.ต.เกริกไชย ยังกล่าวด้วยว่า คดีนี้มีมูลค่าโครงการ 2.7 แสนล้านบาท รัฐบาลมีความตั้งใจจะให้เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประมูลอย่างถูกต้อง 2 รายก็ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการคัดเลือก ยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาถูกต้องเป็นธรรมแล้วและคัดค้านไม่ให้คณะกรรมการคัดเลือกให้สิทธิบริษัทธนโฮลดิ้งกับพวกอีก  

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใสและยุติธรรม ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงยื่นเรื่องต่อประธานศาลปกครองสูงสุด ขอให้นำคดีนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด แต่ก็ขึ้นกับดุลยพินิจของประธานศาลปกครองสูงสุดว่าจะเห็นอย่างไร 

จากนั้นองค์คณะได้ให้ นายเชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นประจำตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะตุลาการผู้แถลงคดี ได้แถลงความเห็นส่วนตนต่อคดีซึ่งไม่มีผลต่อการพิจารณาขององค์คณะ โดยเห็นว่า จากที่ได้ศึกษากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประกาศของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ข้อเท็จจริงในคดีแล้ว  เห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ การจะดำเนินการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดรับเอกสาร ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน มีการแจ้งให้กับผู้เข้าประมูลทราบล่วงหน้า เพื่อความโปร่งใส 


แต่ตามข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏว่ามีกระบวนการรับและตรวจเอกสารโดยวิธีการใดอย่างชัดเจน วันที่ 21 มี.ค. 62 ซึ่งเป็นวันยื่นข้อเสนอมีเพียงให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูลลงทะเบียนก่อนและให้ไปพักรอในห้องพักคอย ทำให้บริษัทธนโฮลดิ้งสามารถทำการจัดและเพิ่มเอกสารบางรายการได้ จนเมื่อใกล้เวลาจึงให้บริษัทที่ประสงค์จะยื่นข้อเสนอไปยื่นเอกสาร ซึ่งเป็นกระบวนการรับและมีการตรวจเอกสารที่ละราย 

โดยรายแรกยื่นในเวลา 15.00 น.  แสดงให้เห็นว่ากระบวนยื่นข้อเสนอดังกล่าวไมได้ยึดถือการขนลำเลียงเอกสาร ให้ต้องผ่านจุดลงทะเบียนในเวลา 15.00 น. นอกจากนี้ เมื่อบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด ยื่นเอกสารแล้วก็มีการตรวจรับโดยไม่มีการทักท้วง หรือออกใบรับอย่างมีเงื่อนไขให้แต่อย่างใด  จึงถือได้ว่า คณะกรรมการคัดเลือกได้มีการตรวจสอบเอกสารจนครบถ้วนแล้ว 

 

ส่วนที่มีการอ้างถึงรายงานคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสารข้อเสนอ รวมถึงภาพถ่ายการลำเลียงเอกสารผ่านจุดลงทะเบียนในเวลา 15.09 น. ก็เป็นการอ้างเอกสารที่เกิดขึ้นภายหลัง และเมื่อพิจารณาเอกสารกล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคาและแผนธุรกิจแล้วก็ไม่ใช่เอกสารที่กำหนดให้ต้องมีการเปิดซอง ณ ขณะนั้น ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถที่จะนำไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงใด หรือล่วงรู้ข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นได้ 

ดังนั้นรายงานของคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสาร รวมถึงภาพถ่ายการลำเลียงเอกสารจึงไม่อาจนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อมีมติไม่รับพิจารณาข้อเสนอด้านราคาและแผนธุรกิจของบริษัทธนโฮลดิ้งกับพวก จึงเสนอให้องค์คณะศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้องค์คณะจะมีการประชุมเพื่อจะมีคำพิพากษาต่อไป ซึ่งยังไม่ได้มีการแจ้งว่าจะเป็นเมื่อใด

 วันเดียวกัน พล.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า ผู้แทนของคณะกรรมการคัดเลือกได้แถลงต่อศาลปกครองสูงสุดด้วยวาจาแก้คำอุทธรณ์ที่ได้จัดส่งให้ศาลปกครองสูงสุดไปก่อนหน้านี้แล้ว หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาอย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตาม 

ส่วนการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคของกลุ่มบริษัทธนโฮลดิ้งฯ กับพวกตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุด